20 กันยายน 2553

เล่าเรื่องรถขสมก. (ขนส่งเมืองแกลง)

       ในโอกาสที่รถขนส่งเมืองแกลง หรือ ขสมก. หรือที่ชาวบ้านเรียกกันสั้น ๆ ติดปากว่า  "รถราง" อีกจำนวน ๒ คันจะมาถึงภายในสิ้นเดือนกันยายน ๒๕๕๓ นี้ หลังจากที่ ๒ คันแรกได้เปิดวิ่งบริการมาตั้งแต่ราวเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๕๒ ในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่าน และจาการที่เพิ่งจะผ่านพ้นช่วงเวลาที่ต้องใช้ไปกับการคัดเลือกรูปภาพจำนวนมากมายอยู่เกือบสองสัปดาห์ รวมถึงเมื่อได้คัดเลือกรูปเพื่อจะเอาไปประดับรถรางแล้ว จะต้องนำมาปรุงให้สวยงาม และลงตัวเหมาะสมจนแล้วเสร็จ และรู้สึกเหมือนได้ผ่านงานหนัก ๆ มาอีกชิ้นหนึ่ง จึงคิดว่าควรจะได้บันทึกที่มาและเรื่องราวไว้เป็นเชื้อสืบต่อไป

       แต่เดิมเมื่อราวปี พ.ศ.๒๕๔๖ ได้มีโอกาสไปที่เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกาโดยมีสถาบันคีนันแห่งเอเชียให้การสนับสนุน คนที่เคยไปย่อมรู้ว่า ที่นั่นเขามีสิ่งอันควรจดจำอยู่อย่างน้อยก็สองอย่างคือ สะพานโกลเด้น เกท และรถรางประจำเมือง ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองนี้ โดยเฉพาะอย่างหลัง เป็นอะไรที่ผู้คนส่วนใหญ่ของซานฟรานซิสโกได้ใช้ในการเดินทางเป็นกิจวัตร และบริการสำหรับนักท่องเที่ยว

       ครั้นเมื่อภายหลังได้เข้าร่วมมาตรการรณรงค์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และเชื่อมโยงไปยังสถาบัน ICLEI (www.iclei.org) แล้ว มาตรการหนึ่งคือการจัดการกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากยานยนต์ในการเดินทาง และนี้เองที่เป็นเหตุผลของการกำเนิดรถราง ขสมก.ขึ้นเพื่อลดการใช้ยานยนต์ส่วนตัว และเพื่อเป็นสวัสดิการสำหรับประชาชนชาวเมืองแกลง

       อย่างไรก็ดี เมื่อแรกที่จะมีรถรางประจำเมืองแกลงนั้น ก็ยังมิวายอดคิดถึงอัตลักษณ์ความงดงามของรถรางไฟฟ้าที่ซานฟรานซิสโกไปเสียไม่ได้ แต่ที่นั่นเขาพัฒนามานานมากแล้ว จึงเห็นการตกแต่งรูปทรงของรถอย่างมีเอกลักษณ์ ที่สุดแล้ว รถขสมก.สองคันแรกของเมืองแกลงที่ตัวถังทำจากเหล็ก และไม่อาจจะใช้วัสดุอื่นใดในภาวะขณะนั้นได้ จึงถูกกำหนดให้แสดงภาพการเดินทางของชาวเมืองแกลงในอดีตไว้กับตัวถังของรถ ทั้งการเดินทางโดยสัตว์พาหนะอย่างม้า เรือ รถโดยสารประจำทาง และแสดงภาพความเป็นอยู่ของชาวเมืองแกลงในอดีต สำหรับโอกาสครบ ๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่าน

       รถขสมก.สองคันแรกได้ออกวิ่งให้บริการโดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ซึ่งได้กำหนดต้นทางปลายทางเพื่อที่จะพาคนจากบ้านเรือนไปที่สนามกีฬาและสวนสาธารณะ และเพื่อรับส่งนักเรียนไปกลับโรงเรียน รวมถึงในโอกาสสำคัญ ๆ อาทิ งานเทศกาลต่าง ๆ หรือให้บริการผู้มาทัศนะศึกษาดูงานในพื้นที่ ทั้งนี้ ได้กำหนดให้วิ่งเฉพาะพื้นที่ด้านทิศใต้ของถนนสุขุมวิท เนื่องจากรถขสมก.ยังมีเพียง ๒ คัน อยู่ในระยะเริ่มต้น ไม่ควรเสี่ยงข้ามถนนสุขุมวิทโดยไม่จำเป็น และด้วยความลงตัวในเรื่องของตารางเวลาในการเดินรถ

       และก่อนที่จะมีคันที่ ๓ และ ๔ นั้น ได้มีการวางเส้นทางเดินรถสำหรับพื้นที่ด้านทิศเหนือถนนสุขุมวิท และมีการนำรถสองคันแรกไปทดลองวิ่ง ทำให้ต้องมีการปรับลดขนาดความยาวของรถลงเล็กน้อยเพื่อสามารถลดความกว้างของวงเลี้ยวให้สะดวกยิ่งขึ้น

       ในท้ัศนะส่วนตัว ยังคงให้น้ำหนักความยากของเรื่องนี้ตรงที่ว่า เราจะออกแบบภาพด้านหน้า ด้านหลังและด้านข้างตัวถังรถให้งดงามได้อย่างไร เพื่อให้เป็นอัตลักษณ์หนึ่งสำหรับรถรางของเมืองแกลง เพื่อให้รู้จักความเป็นเมืองแกลงมากยิ่งขึ้น และเพื่อบอกเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ในพ.ศ.๒๕๕๓ นี้ได้อีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะถูกเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จะถูกถ่ายเป็นภาพและจะอยู่กับเมืองแกลงไปอีกนาน

       แน่ล่ะ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์สุนทรภู่ สร้างขยายขนาดจากแบบจำลองขนาดความสูง ๔๐ เซ็นติเมตรของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีขึ้น ณ สนามกีฬาและสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พระพรรษาในวันที่ ๑๓ มีนาคม ภาพพิธีการในวันดังกล่าว

       และภาพของสุนทรภู่ในวัยหนุ่มที่แตกต่างจากสุนทรภู่ทีอนุสาวรีย์ตำบลกร่ำ เพื่อจะบอกว่าสุนทรภู่มาเยือนเมืองแกลงขณะมีอายุได้เพียง ๒๐ ปีได้ถูกปรุงและนำไปติดไว้ที่รถราง ขสมก. คันที่ ๓

       ส่วนด้านข้างด้านหนึ่ง เป็นภาพการแสดงบนเวทีในงานบุญกลางบ้านปีนี้ ซึ่งได้เลือกเฟ้นภาพของนักแสดงที่กำลังสร้างความสุขแก่ผู้ชมผ่านทางสีหน้า ท่วงท่าอันระคนความสุขไว้ด้วยเช่นกัน

       อีกด้านหนึ่ง เป็นกลุ่มภาพที่แสดงสีสันบรรยากาศงานบุญกลางบ้านใน ๓ พื้นที่ด้วยกัน คือที่ถนนสุนทรโวหาร ที่ซอยศรีประชุมชล (ซอยศาลาต้นโพธิ์) และในแพนั่งชมการแสดงกลางน้ำ (Floating stage) ที่กองช่างทำไว้ทุกปี ภาพความเคลื่อนไหวเหล่านี้เปรียบปานไปก็เหมือนเป็นอวัยวะสำคัญของนายบุญกลางบ้านที่มีอายุล่วงเลยมาแล้วถึง ๖ ปี

       เมื่อกล่าวถึงรถราง ขสมก. คันที่ ๔ ภาพขบวนเรือที่แห่จากด้านทิศใต้ของเมืองขึ้นไปจากศาลาต้นโพธิ์พร้อมต้นผ้าป่าบนหัวเรือเพื่อไปร่วมพิธีเปิดอนุสาวรีย์สุนทรภู่เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ปีนี้ ณ สนามกีฬาฯ เทศบาลซึ่งอยู่ในย่าน "บ้านดอนเค็ด" ซึ่งสุนทรภู่เคยมาเยือนเมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๙ เป็นภาพขณะผ่านบริเวณโรงเืลื่อยเก่าที่อยู่ตรงข้ามกับตรอกขี้หมู และไปไกล ๆ เห็นสะพาน ๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่าน แสงเงา องค์ประกอบของภาพนี้งดงามชนิดที่ไม่ต้องตัดสินใจเพราะมีตัวเลือกอื่นใด ๆ เลย สรุปได้ง่ายมากว่าต้องเป็นภาพนี้

       ส่วนด้านหลัง เป็นภาพต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ อายุมากปลายตรอกขี้หมูที่ผู้คนไม่สู้จะผ่านตาเหมือนต้นโพธิ์ที่ศาลาต้นโพธิ์ มีการนำภาพสะพาน ๑๐๐ ปีฯ มาปรุงไว้ และภาพหมู่ของเด็ก ๆ ที่ช่วยกันให้กำลังใจ ลุ้นเอาใจช่วยเพื่อน ๆ ให้เหยียบหลัง เหยียบไหล่ ไต่เสาไม้ไผ่ขึ้นไปดึงแบ็งค์ที่ผูกไว้ที่ปลายยอด มีความงดงามตามธรรมชาติของเด็ก และแสดงถึงสภาพน้ำในแม่น้ำประแสที่หลายปีมานี้ สามารถจะโดดลงไปเล่นได้

       ภาพด้านข้างรถคันที่ ๔ นี้ เป็นการตอบโจทย์ว่า หากเรานึกถึงเมืองแกลง อะไรที่เราเคยเห็นกันบ่อย ๆ สำหรับผู้คนในหลาย ๆ รุ่นวัย นั่นก็คือ อาคารโรงพักเก่าที่กำหนดให้ก่อสร้างใหม่ตามขนาดรูปทรงเดิมเพื่อจะมาเป็นหอประวัติเมืองกลง และสะพาน ๑๐๐ ปี บ้านตลาดสามย่านที่เราใช้ข้ามคลองประแสกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันมาแต่อดีต โดยภาพด้านข้างนี้ ได้นำเอาภาพทั้งสองบริเวณในอดีตปี พ.ศ.๒๔๖๖ มาผสมให้ได้เปรียบเทียบและบอกเล่าถึงความคุ้นเคยมาเนิ่นนานของสถานทั้ง ๒ แห่งนี้ โดยมีภาพเทวดาและนางฟ้า พร้อมขบวนกลองยาวแสดงถึงความรุ่งเรืองปิติมาเพิ่มสีสัน

       ภาพอีกด้านหนึ่งที่เหลือ คือภาพที่แสดงถึงกลุ่มบ้านเรือนในพื้นที่ที่เคยรุ่งเรืองมาแต่อดีต คือบ้านบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอแกลงหลังเก่า ตั้งแต่ปากตรอกขี้หมู ไปจนถึงทางลงไปสะพาน ๑๐๐ ปีฯ บ้านด้านซ้ายเป็นภาพบ้านเก่าที่ยืนยาวมาจนปัจจุบัน ส่วนภาพเก่าโทนสีหม่นนั้น ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตไปมากพอสมควร แต่ก็ยังพอเหลือบ้านเก่าให้เห็นเป็นเค้าให้พอได้ชื่นใจอยู่บ้าง และเพื่อเป็นจุดสนใจ จึงได้ดึงเอาภาพนางรำที่ยิ้มแย้มและมีการแสดงออกถึงท่าทางการร่ายรำที่สมส่วน โดยเฉพาะนางรำด้านซ้าย พร้อมตัวโขนมาเป็นองค์ประกอบ

       การเลือกภาพจากฐานข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้เป็นพัน ๆ ภาพจึงปรากฏออกมาที่ดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ด้วยความทุกข์ใจเรื่องเวลาที่จำกัด ด้วยความยากในการเลือกสรร การค้นหาแก่นของเรื่องเพื่อประมวลให้เป็นภาพเดียว และการลงมือปรุงภาพให้งามของผู้ทำ ให้สมกับความพยายามของผู้ถ่าย เมื่อเสร็จแล้วก็โล่งใจ เพราะรถขสมก.นี้เป็นสมบัติของชาวเมืองแกลงทั้งเมืองที่จะใช้ร่วมกันไปอีกนาน หากคิดใช้ประโยชน์เพียงแค่สำหรับเดินทางไปมา ก็คงได้ประโยชน์เพียงส่วนเดียว

       คุณค่าของขสมก.นี้จึงควรแสดงถึงอัตลักษณ์ของเมืองเพื่อให้รถขสมก.นี้ได้วิ่งตีกระดิ่ง แก๊งค์ ๆ แก๊งค์ ๆ ให้ผู้คนได้รู้สึกรัก ผูกพันและภาคภูมิใจในการอยู่เมืองแกลงอยู่ทุก ๆ วัน