07 มีนาคม 2554

บทที่ ๕ ข่าวที่มาของป้ายหอประวัติ

       หลังจากที่อาคารหอประวัติเมืองแกลงได้ก่อสร้างขึ้นใหม่ตามเค้าโครงเดิมของอาคารสถานีตำรวจภูธร แกลง หลังเก่าจนแล้วเสร็จเมื่อสักสามเดือนที่ผ่านมา ในการประชุมกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน (อสม.) นัดหนึ่ง นายกเทศมนตรีตำบลเมืองแกลงได้เอ่ยปากสอบถามเรื่องไม้ที่จะเสาะหาเพื่อนำไปแกะสลักป้ายชื่อ "หอประวัติเมืองแกลง" ไว้ติดที่หน้าจั่วของอาคาร นายธีรชัย รุธิรวุฒิ (ลุงตุ้น) รองประธานชุมชนบ้านดอนมะกอก ผู้ยึดการทำโรงเลื่อยไม้เป็นอาชีพ ได้ออกปากมอบไม้มะค่าให้เทศบาลตำบลเมืองแกลงนำไปแกะสลักตามประสงค์โดยพลัน

       เป็นเวลาเดียวกับที่คุณลุงประกอบ รัตนภรณ์ ได้ตกปากรับคำที่จะแกะสลักงานดังกล่าวให้ หลังจากที่ได้ไปชมพิศอาคารหอประวัติเมืองแกลงที่เพิ่งสร้างแล้วเสร็จในค่ำวันหนึ่ง โดยที่คุณลุงประกอบ รัตนภร์ในวัยร่วมแปดสิบปีนี้ นับเป็นผู้มีฝีมือทางงานแกะสลักเนื้อไม้คนสำคัญของเมืองแกลง ที่ต้องใช้ความเพียรพยายาม ความสุขุมเยืือกเย็น และประสบการณ์อย่างยิ่ง กว่าจะได้เป็นชิ้นงานออกมาชิ้นหนึ่ง ควบคู่ไปกับความเป็นผู้มีอารมณ์สุนทรีย์จากการเล่นเครื่องดนตรีได้หลายชนิดของท่าน อาทิ ระนาด แอ๊คคอเดี่ยน ซอ เป็นต้น

       ขณะนี้งานแกะสลักป้ายหอประวัติเมืองแกลง เสร็จไปแล้วกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจะสำเร็จทั้งหมดไม่เกินต้นเดือนมีนาคม ศกหน้านี้ เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนโดยทั่วไป ถึงจิตใจอันเป็นกุศล จิตใจอันเป็นสาธารณะของทั้งสองท่านนี้ให้ปรากฏสืบต่อไปในภายภาคหน้า เทศบาลตำบลเมืองแกลงขอขอบพระคุณในน้ำใจอันงดงามของคุณธีรชัย รุถิรวุฒิ และคุณลุงประกอบ รัตนภรณ์ มา ณ โอกาสนี้
       

ข่าวงานติดตั้งป้าย

       หลังจากที่งานแกะสลักลงสีไม้มะค่า เพื่อทำป้ายหอประวัติเมืองแกลง ได้สำเร็จลงอย่างงดงามด้วยฝีมือนายทองแดง วิมล ช่างไม้ฝีมือดีจากชุมชนพลงช้างเผือกแล้ว เมื่อวันพุธที่ ๒ มีนาคมนี้ เทศบาลตำบลเมืองแกลง จึงได้นำป้ายดังกล่าวไปติดตั้งไว้ที่ใต้จั่วหน้าอาคารหอประวัติเมืองแกลง บริเวณใต้ช่องลมระบายอากาศรูปครุฑตามที่กำหนดไว้ ซึ่งงานติดตั้งป้ายหอประวัติเมืองแกลงเป็นไปด้วยความราบรื่นเรียบร้อย ท่ามกลางสายฝนโปรยปรายเหมือนนัดหมายกันไว้เมื่อเริ่มลงมือ


       งานจัดทำป้ายดังกล่าว ได้ส่งผ่านจากการมอบไม้มะค่าจากนายธีระชัย รุธิระวุฒิ แห่งชุมชนบ้านดอนมะกอก มายังนายประกอบ รัตนภรณ์ แห่งชุมชนแกลงแกล้วกล้า ผู้ลงมือแกะสลักตัวอักษรบนเนื้อไม้ และสำเร็จลงที่นายทองแดง วิมล แห่งชุมชนพลงช้างเผือก ช่างผู้ลงสี โดยทั้งสามท่านล้วนแต่เป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งเทศบาลตำบลเมืองแกลงขอขอบพระคุณที่ได้กรุณาให้การสนับสนุนและฝากเรื่องราวที่มาของป้ายหอประวัติเมืองแกลงพร้อมฝีมือ และจิตสาธารณะไว้ให้บ้านเมืองมา ณ โอกาสนี้


       และในวันศุกร์ที่ ๑๘ มีนาคมที่จะถึงนี้ นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองพร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ พี่น้องประชาชน จะได้ร่วมกันในพิธีเปิดอาคารหอประวัติเมืองแกลงอย่างเป็นทางการในระหว่างเทศกาลงานบุญกลางบ้านต่อไป

บทที่ ๔ หอประวัติเมืองแกลง.. พลวัตที่หมายแปลงไปสู่การ "ฝึกฟื้นใจเมือง"

       งานก่อสร้าง "เรือนหลังใหม่" ขึ้นมาทดแทนเรือน "โรงพักเก่า" ถนนสุนทรโวหาร บ้านตลาดสามย่าน ได้เริ่มต้นในราวเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๒ และแล้วเสร็จลงในปลายปี พ.ศ.๒๕๕๓ ทั้งนี้ มีประเด็นการก่อสร้างที่ควรบันทึกไว้ กล่าวคือ

       ได้มีการขยับตำแหน่งของเรือนจากเดิม ออกมาทางทิศตะวันออก หรือออกมาทางถนนสุนทรโวหารอีกประมาณ ๘ เมตร เพื่อให้มีตำแหน่งที่เหมาะสมกว่าเดิม

       พื้นที่ว่างด้านหลังเรือน หลังจากขยับออกมาหน้าถนนอีก ๘ เมตร ได้ออกแบบเพิ่มเรือน ๒ ชั้นขึ้นมาอีก ๑ หลัง เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้มากขึ้นกว่าเดิมที่สร้างไว้แต่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔


       เรือนด้านหลังที่เพิ่มขึ้น ได้ออกแบบหดย่อขนาดพื้นที่ชั้นล่างด้านข้างฝั่งทิศเหนือ ให้เป็นเพิงไม้สำหรับปลูกไม้แขวน อาทิ กล้วยไม้ เป็นต้น ส่วนด้านข้างเรือนชั้นบน มีพื้นทางเดินออกไปได้ พร้อมระเบียงกันตก ทั้งนี้ หมายให้ผู้มาเยือนได้ความรู้สึกถึงการมาเรือนของปู่ย่าตายายยามได้กลับมาเยี่ยมเยียนท่านนั่นเอง


       หลักสำคัญในการออกแบบเรือนหลังใหม่ที่ระลึกอยู่เสมอ คือ อาจพิจารณาขยายพื้นที่ทางลึกหรือทางดิ่งได้ แต่ต้องห้ามปรับเพิ่มลดขนาดทางกว้าง เนื่องจากเมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วพบว่า ความงามสมส่วนของเรือนโรงพักเก่า อยู่ที่มีรูปทรงขนาดความกว้างของตัวเรือนที่ลงตัวเป็นสำคัญ


       รอยต่อระหว่างเรือนด้านหน้าและเรือนด้านหลังที่เพิ่มขึ้น ออกแบบให้เกิดเป็นช่องรับแสงทั้งสองข้างเพื่อกระจายแสงสว่างในตัวเรือน และเพื่อการประหยัดพลังงานไฟฟ้าแสงสว่าง


       มีการยกระดับความสูงของพื้นตัวเรือนเดิม ให้เพิ่มขึ้นมาอีก ๕๐ เซ็นติเมตร เพื่อให้เกิดความตระหง่านและสง่างาม


       มีการออกแบบขยายพื้นที่มุกเรือนส่วนหน้าให้เหมาะสมขึ้นกว่าเดิมเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย 


       เรือนชั้นบนออกแบบโดยไม่ให้มีเสารับน้ำหนักอยู่กลางตัวเรือนเหมือนเรือนหลังเก่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในส่วนเรือนชั้นบน


       ด้านข้างของหน้าต่างบานเฟี้ยมทุกชุด ออกแบบให้เพิ่มช่องรับแสงเอาไว้ทั้งสองด้าน เพื่อการกระจายแสงในตัวอาคารได้ทั่วถึงและเพื่อการประหยัดพลังงานไฟฟ้าแสงสว่าง


       ช่องระบายลมโดยรอบอาคาร มีการออกแบบใหม่ จากเดิมที่คงเป็นแต่ชิ้นไม้ซี่กว้างประมาณ ๒ นิ้วตั้งเรียงกันไปโดยรอบ มาเป็นช่องลมที่ฉลุลวดลายตามแบบช่องระบายลมของบ้านในตลาดสามย่านแต่เดิมที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับเรือนโรงพักเก่านั่นเอง


       ระดับความสูงของเรือนชั้นล่างและชั้นบนมีการปรับเพิ่มระดับความสูงให้เป็นมาตรฐานและเหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบัน เนื่องจากเรือนหลังเก่า มีการดัดแปลงใต้ถุนชั้นล่างแต่เดิมให้เป็นห้องทำงาน


       บันไดทางขึ้นลงบริเวณข้างมุกหน้าของเรือนหลังใหม่ ออกแบบให้มีที่พักบันได เพิ่มจากเรือนหลังเดิมที่ไม่ได้ทำไว้ เพื่อลดความชันและได้พักเท้าในการก้าวขึ้นลง


       ตัวเรือนหลังใหม่เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหลัง แล้วหุ้มด้วยไม้เทียม เพื่อให้เกิดความมั่นคง ปลอดภัย  มีอายุการใช้งานที่ยาวนานสืบไป

       ทุกรายการที่ได้ประมวลมาไว้ ณ ที่นี้ ยังมีหลักสำคัญในการออกแบบอีกเรื่องหนึ่ง คือความต้องการให้เรือนหลังใหม่ ได้ถูกใช้ทำหน้าที่เป็น "หอประวัติเมืองแกลง" เป็นศูนย์กลางในการศึกษาค้นคว้าประวัติความเป็นมาของชาติพันธุ์ บรรดาสาแหรก และมิติความเปลี่ยนแปลงของเมืองแกลงในทุก ๆ ด้านจากอดีตถึงปัจจุบัน ให้สามารถนำองค์ความรู้ตรงนั้นมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในยุคนี้  เป็นสถานที่เอนกประสงค์ในการใช้ประโยชน์อันเหมาะสมสำหรับพี่น้องประชาชนทั่วไป

       และในความเป็น "หอประวัติเมืองแกลง" เทศบาลฯ หมายให้อัตลักษณ์แห่งเรือนหลังนี้ได้ถ่ายทอดกลิ่นอาย บรรยากาศ และความรู้สึกของบ้านตลาดสามย่าน แขวงเมืองแกลง ได้ด้วยตัวของเรือนหลังนี้เองยิ่งกว่าคำบอกเล่าพรรณาใด ๆ ในท้ายที่สุด

    

    

บทที่ ๓ กลั่นความคิดที่เป็นผลผลิตทางความรู้สึก ก่อนตกผลึกสู่การลงมือทำ

       นอกจากบ้านเรือนของผู้คนในตลาดสามย่าน ย่านแรกสร้างเมือง และบ้านเช่าของกรมธนารักษ์ ตรงนี้แล้ว มีก็เห็นแต่เรือนที่เป็นของรัฐอยู่ ๒ แห่ง คือ ที่ว่าการอำเภอ และโรงพัก เท่านั้นที่ผ่านคืนวันในสามย่านมาช้านาน

       ที่ว่าการอำเภอนั้น เมื่อส่วนราชการได้ย้ายออกไปก่อนโรงพักไม่นาน จากนั้นก็ยังได้ใช้เป็นที่สอนหนังสือของหลาย ๆ หน่วยบนที่ว่าการและหอประชุมด้านหน้ามากระทั่งปัจจุบัน

       ฝ่าย "โรงพัก" ที่มีบริเวณชิดถนนสุนทรโวหารอย่างเห็นได้ชัดนั้นเล่า ก่อนปี พ.ศ.๒๕๔๕ ซากรถหลายชนิดที่ไปประสบอุบัติเหตุหรืออยู่ระหว่างการรอดำเนินคดี  ยังคงจอดอยู่ริมถนนสุนทรโวหาร ใจกลางตลาดสามย่านก็ว่าได้ ไปตลอดแนวรั้วโรงพักเก่า  เป็นภาพที่ทำให้นึกหดหู่ เห็นใจคนที่ไปประสบอุบัติเหตุ แต่ก็เป็นภาพที่เตือนความรู้สึกให้ระมัดระวังการขับขี่ได้เป็นอย่างดี

       กระันั้นก็ดี บริเวณลานโล่งด้านหน้าก็ยังเหลือพื้นผิวหินคลุกอยู่อีกมาก จึงในที่สุด เทศบาลฯ ได้เข้าไปออกแบบพัฒนาบริเวณดังกล่าวให้เป็นสถานที่สำหรับนันทนาการแก่ประชาชน เป็นสนามบาสเกตบอล เป็นลานแอโรบิค ปลูกไม้ยืนต้น และเป็นสนามตะกร้อตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๕ เรื่อยมา

       ส่วนเรือน "โรงพักเก่า" ที่หยุดใช้งานอย่างสิ้นเชิงมาแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๘ เป็นเรื่องหนึ่งที่ยังเป็นคำถามวนเวียนอยู่ในใจ ว่าหากละเลยก็รังแต่จะสูญสลายไปในที่สุด และมีความหมายต่อการนำพาพัฒนาเมืองแกลงในหลายสถานะ กล่าวคือ

       ควรที่จะพัฒนาให้เรือนโรงพักเก่านี้ ที่สร้างกันมาแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๓ และแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๙๔ ได้กลับมาใช้ประโยชน์ในทางใด ให้เหมาะกับสภาพเมืองในปัจจุบัน

       หากไม่นำพารักษาเรือนโรงพักเก่าแล้ว ชิ้นส่วนสำคัญของบ้านตลาดสามย่านชิ้นนี้ ก็คงจะสิ้นสลายกลายเป็นได้แค่ "คิดถวิล" อย่างแน่นอน  และเมื่อนั้น บ้านตลาดสามย่านจะเหลืออะไร จะมีประโยชน์อันใด หากก้าวไปโดยไม่คิดแลเรื่องราวแห่งปูมหลัง

       ในการพัฒนาบ้านเมือง เราให้คุณค่าความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางศิลปกรรมต่าง ๆ ของเมืองสักแค่ไหน อะไรคือความเจริญของบ้านเมือง และเราจะนำเอาศิลปกรรมที่เกิดขึ้นมาแต่ผู้คนในอดีตได้สร้างไว้ เป็นเครื่องวัดและยกระดับคุณค่าของเมืองได้หรือไม่ ฯ

       ที่สุดแล้ว เรือน "โรงพักเก่า" จึงถูกนำมาคิดปรับปรุง พลันเมื่อประเด็นคำถามต่าง ๆ ข้างต้นได้ตกผลึกเป็นคำตอบอย่างมาดมั่นว่า การอนุรักษ์ "โรงพักเก่า" ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญของบ้านตลาดสามย่านนี้เป็นหน้าที่ เพื่อให้บ้านตลาดสามย่าน ได้ดำรงคุณค่าอัตลักษณ์ของตัวเองเอาไว้ให้ได้ และเพื่อให้เรือนหลังนี้ ได้ออกแบบให้มีหน้าที่การใช้งานเพื่อประโยชน์ของพี่้น้องชาวเทศบาลได้ต่อไป 
  
       แต่ครั้นเมื่อได้เข้าไปพิจารณาเรือนโรงพักเก่าที่แทบเรียกได้ว่า ผุพังโทรมทรุดอย่างยิ่งในราวปี พ.ศ.๒๕๔๖ แล้ว และได้ให้ช่างเข้าไปทดสอบความแข็งแรงของโครงสร้า่งที่ปรากฏอยู่ พบว่า ไม่อยู่ในลักษณะที่จะเข้าไปซ่อมแซมปรับปรุงแก้ไขให้คืนดีได้ เพราะชิ้นไม้ทุกส่วนผุเสียมาก โครงสร้างเสาก็ไม่มั่นคง ตงและคานรับน้ำหนักทั้งผุและแอ่น ขนาดที่ไม่ควรขึ้นไปชั้นบนเกินคราวละสิบคน

       เทศบาลฯ จึงได้กำหนดแนวคิดที่จะสร้างเรือนในลักษณะโรงพักเก่านี้ขึ้นมาใหม่ ที่ยังคงถือเอาความงดงามของเรือนหลังเก่าเอาไว้เหมือนเดิม

       ความงามของเรือนโรงพักเก่าที่ซึมซ่อนอยู่ แม้จะถูกปรับปรุงมาหลายต่อหลายครั้ง ที่อนุมานว่าคงเป็นไปแบบกระท่อนกระแท่น เพราะงบประมาณอันจำกัดจำเขี่ย คงจะทำให้ดีได้ยาก ทั้งปะซ่อมพื้นผุและหลังคารั่ว ทั้งรูโหว่ของผนังและผังพื้น ฯ สภาพที่เห็น คงประมาณแต่เพียงว่า..ซ่อมเพียงให้พออยู่ได้

       แต่ความงามของเรือนก็ยังเป็นประกาย ด้วยงามนั้น งามที่จั่วมุกเรือนส่วนหน้า งามที่ระดับความลาดเอียงของหลังคา งามที่หน้าต่างบานเฟี้ยมที่อยู่รายรอบ งามด้วยลักษณะบันไดทางขึ้นลงทั้งสองฝั่ง และงามด้วยทรวดทรงสัดส่วนของเรือนที่ออกแบบไว้อย่างได้ขนาด มั่นคง และภูิมิฐาน

       ความงามอันกล่าวมานี้ เทศบาลฯ จึงได้ส่งสถาปนิกเข้าไปสำรวจจัดเก็บรายละเอียด มุมองศา อัตลักษณ์ ของเรือนโรงพักเก่าไว้เพื่อไม่ให้คลาดเคลื่อนเมื่อถึงวันที่จะลงมือก่อสร้างใหม่

       และเมื่อผ่านขั้นตอนนี้และมีการออกแบบเตรียมพร้อมแล้ว ทางฟากการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะฟากสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลง ซึ่งสมาชิกฯ ทุกท่านต่างเล็งเห็นความสำคัญของคุณค่าแห่งงานศิลปกรรมประจำเมืองของเรือนโรงพักเก่านี้ โดยให้ความเห็นชอบอย่างท่วมท้น เป็นเอกฉันท์...

       งานรื้อถอนเรือนโรงพักเก่าที่ทิ้งร้างอย่างอ้างว้างมากว่าสิบปี จึงเริ่มต้นขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนก่อนที่จะได้มีการเริ่มพิธีบวงสรวงเทวดา ไหว้บูชาเจ้าที่ ทำบุญอุทิศส่วนกุศล และวางศิลาฤกษ์เตรียมการก่อสร้างเรือนหลังใหม่ในวันเสาร์ที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๒ วันเดียวกับที่มีพิธีฉลองเปิดสะพาน ๑๐๐ ปี บ้านตลาดสามย่านที่ถนนโพธิ์ทอง อันอยู่ในระหว่างการจัดงานบุญกลางบ้าน ปีที่ ๖ หลังจากเทศบาลฯ ได้เข้าไปบูรณะปรับปรุงสะพานเป็นการก่อนหน้าแล้ว เพื่อให้เกิดเป็นคุณค่างานทางด้านสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมในเมืองแกลงอีกงานหนึ่ง

       สะพาน ๑๐๐ ปี บ้านตลาดสามย่านได้ไปทอดรอการเริ่มต้นก่อสร้างหอประวัติเมืองแกลง...บ้านของคนทุกชั้นชน ทุกรุ่นวัยในบ้านตลาดสามย่านทั้งเมือง  ก็นับเนื่องแต่ในวันนั้นแล...

    

บทที่ ๒ ชิ้นส่วนสิ่งแวดล้อมทางศิลปกรรมสำคัญ ๆ ที่เรียงต่อกันเป็น "บ้านตลาดสามย่าน"

       ถนนสุนทรโวหาร ตลาดสามย่าน ไม่ได้มีเพียงแต่หมู่ "บ้านเรือนร้านรวง" เรือน "ที่ว่าการอำเภอ" หรือ "โรงพัก" เท่านั้น หากยังมี "ชิ้นส่วน" สำคัญที่ประกอบกันอยู่มิใช่น้อย
    
       ภาพที่เลือนหายไป และได้กลายเป็นเพียงความทรงจำเสียแล้ว เช่น อาทิ โรงลิเกเจ๊กชิ่ว วิกไพบูลย์บันเทิง คอกม้าหน้าโรงพัก ลานโล่งหน้าที่ว่าการอำเภอ ฯ

       แต่ที่ยังเป็นร่องรอย อยู่ในรอยต่อระหว่างอดีตกับปัจจุบันก็ยังมีอยู่มิใช่น้อย และยังคงทำหน้าที่อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับชีวิตของคนสามย่านวันนี้ พอจำแนกได้คือ
  
        หมู่บ้านเรือนร้านรวงบนถนนสุนทรโวหาร จากบริเวณฝั่งปากตรอกขี้หมู ซอยฝั่งธน ซอยลุงร่มไปจรดวงเวียนใน ที่แม้จะมีเรือนใหม่ ๆ แซมแทรกอยู่บ้าง แต่ "บุคลิก" ของเรือนย่านนี้ยังตรึงภาพเก่า ๆ ได้ขมัง หากหมายจะสัมผัสกลิ่นอายของตลาดสามย่านแต่อ้อนออก ก็ต้องใช่ที่นี่เลย

     หมู่เรือนที่หันหลังให้ที่ว่าการอำเภอตลอดแนว ที่มีอายุไล่เรียงจากเรือนฝั่งตรงข้าม นี้ก็ยังคง "บุคลิก" ไว้อย่างข้นเข้ม ด้วยเหตุเพราะเป็น เรือนให้ราษฎรใช้ประโยชน์ เป็นทรัพย์สินที่ราชพัสดุ เสียมากกว่าสามสิบคูหา การปรับเปลี่ยนจึงมีน้อย

     หลายหลังเรือนย่านนี้ เคยเป็นและยังเป็นของลูกหลานคนทำราชการมาแต่อดีตมิใช่น้อย อาทิ ตึกสามชั้นริมคลองสามย่านบ้านคุณพล บุตรคนสุดท้องของหลวงแกลงแกล้วกล้า (ศรี บุญศิริ) ผู้ว่าราชการเมืองแกลงในสมัยรัชกาลที่ ๕  เรือนไม้ของครูลำใย วงศ์พิทักษ์ บุตรหมื่นพงษ์แพทย์พิทักษ์ (เอิบ) แพทย์ประจำตำบล เรือนไม้ของขุนประดับประดิษฐการ อดีตปลัดอำเภอแกลง เรือนไม้ของบุตรสาวขุนเรี่ยมประศาสน์ (เรี่ยม พราหมทัศน์) อดีตนายอำเภอแกลง

     อีกสองแห่งที่ต้องกล่าวถึง นอกจากย่านข้างต้นแล้ว หนึ่งคือ พื้นที่และเรือนสำนักงาน "โรงเลื่อยจักรพงษ์เกษม" ที่เหลือเรียกกันเพียง "โรงเลื่อยเก่า" มานับสิบปี แต่ทว่า ยุคหลังปี พ.ศ.๒๔๗๐ ถึงปี พ.ศ.๒๕๒๐ ตรงนี้คือฟันเฟืองขับเคลื่อนเม็ดเงินระคนกับความคึกคักของผู้คนที่เกี่ยวข้อง เนื่องเพราะเป็นธุรกิจที่มีห่วงโซ่สายสัมพันธ์อันกว้างขวาง

     อีกแห่งหนึ่งคืออาคาร "ตลาดสด" อันเป็นพื้นที่ราชพัสดุติดกับหมู่เรือนร้านค้า แม้โครงสร้างตลาดเดิมจะทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กก็ตาม แต่ลักษณะทรงอาคารทั้งสองหลังก็บอกยุคสมัยที่ตลาดสามย่าน ได้ใช้มือไม้ของความเป็น "สุขาภิบาลทางเกวียน" เข้ามาบริหารบ้านเมืองในช่วงราวต้นปี พ.ศ.๒๕๑๐ ภายหลังเมื่อเกิด "ตลาดเช้า" ตามมาอีกหนึ่งแห่ง "ตลาดสด" ตรงนี้ จึงเรียกกันว่า "ตลาดเย็น" ที่หมายถึงเป็นตลาดสำหรับซื้อขายกันแต่ในช่วงเวลาเย็น

     เรือนถัดจากย่านนี้ไป ทั้งมุ่งหน้าไปทางวัดพลงช้างเผือก และมุ่งหน้าไปทางหัวถนนสุนทรโวหารที่เคยเรียก "แยกมะขามคู่" กล่าวโดยรวมคือ สร้างขึ้นไล่เรียงกันมาภายหลังกระจายตัวจากย่านเรือนชาวบ้านและเรือนที่ทำการของทางราชการข้างต้น แต่พอจะอนุมานได้ว่า เกิดนับแต่ราวปี พ.ศ.๒๔๘๐ เรื่อยมา มีลักษณะส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้สองชั้น หลังคาจั่วยอดแหลมทรงปั้นหยา แทบจะไม่ตกแต่งประดับประดาใด ๆ ด้วยเพราะเป็นบ้านใช้ทำมาค้าขายผสมอยู่อาศัย ทั้งของคนไทยและเจ๊กจีนก็มีมิใช่น้อย

      เรือนที่ทำ่จากไม้ เพราะยุคสมัยที่ก่อสร้าง ไม้หาได้ง่ายไม่แพ้ปูนนั้น  ต่อเมื่ออายุการใช้งานได้สักสี่ห้าสิบปีขึ้นไป ก็เริ่มถูกชอนไชโดยปลวก และ "ไอ้หุน" อยู่ทุกเวลา ต้องปรับปรุงซ่อมแซมกันอยู่ตลอด ที่มีทุนรอนหรือซื้อขายเปลี่ยนมือ และรื้อสร้างใหม่เป็นบ้านคอนกรีตเสียก็มาก

       รูปลักษณะ หรือ "บุคลิก" เฉพาะตัวอันเป็น "สิ่งแวดล้อมทางศิลปกรรม" ของบ้านตลาดสามย่านก็เริ่มเคลื่อนคลายกลายเปลี่ยน จะเรือนของราษฎร์ เรือนของรัฐ ล้วนแต่อยู่ในกฎของความอนิจจังทั้งสิ้น

       แต่แม้ว่าเรือนที่ยังยืนหยัดท้าทายแรงลมและน้ำฟ้า อันซึ่งเจ้าของบ้านผู้สร้างแต่แรกจะได้ดับสูญไปแสนนาน จะยังยืนเด่นทำหน้าที่ไว้ลายให้กับความเป็น "บ้านตลาดสามย่าน" กันอยู่บ้างพอสมควร...

     ก็ยังรู้สึกใจหาย ด้วยไม่รู้ว่า...จะอยู่ได้นานกันอีกสักเท่าใด ทั้งเรือนของราษฎร์ หรือเรือนของรัฐ

       มิเว้นแม้แต่เรือน "โรงพักเก่า" ที่เคยมีพื้นที่ลานโล่งกว้างชิดถนนสุนทรโวหาร ซึ่งผู้คนที่ผ่านไปมาเห็นกันชัดจนชินตา...

     ...ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ย้ายออกไปปฏิบัติงาน ณ สถานที่แห่งใหม่อย่างเบ็ดเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ เพราะสถานที่ทำงานเริ่มคับแคบ ไม่สะดวกสำหรับประชาชนที่มาติดต่อ บวกกับความทรุดโทรมของอายุเรือนที่สร้างและกรำงานมานาน

       ทิ้งโรงพักให้แรมร้าง ให้ไกลห่างจากผู้คนจากที่เคยเป็นอยู่ ...ด้วยความจำเป็น  

    

    

บทที่ ๑ เมื่อพูดถึง "ตลาดสามย่าน"...เรานึกถึงอะไร

       ถ้าเกิดคำถามว่า...เมื่อนึกถึงอำเภอแกลง  เรานึกถึงอะไร?
     หากจะตอบแบบปัจจุบันทันด่วน  เราคงนึกถึงสัญลักษณ์ของอำเภอแกลง เช่น อนุสาวรีย์สุนทรภู่ แหลมแม่พิมพ์ ผลไม้อย่างทุเรียน เงาะ หรือของจากทะเลอย่าง กะปิ น้ำปลา ฯ
    
       แต่หากเวลาเราเอ่ยถึง "ตลาดสามย่าน" ที่เป็นภาพพื้นที่หลัก ศูนย์กลางของอำเภอแกลงแล้ว สิ่งแรก ๆ ที่เราเห็นเป็นภาพของตลาดสามย่านขึ้นมาทันทีคืออะไร?
      ภาพสำคัญ ๆ ที่เราเห็น ก็คงจะเป็นภาพถนนสายหลักอย่าง "ถนนสุนทรโวหาร" ที่มีมาแต่ดั้งแต่เดิม และที่เรานึกถึงขึ้นมาทันทีเป็นเพราะ  ถนนสุนทรโวหารนี้ เป็นถนนที่ตัดเฉียดชิดคลองสามย่าน (คลองประแส) เป็นสายแรก ประหนึ่งเป็นเครื่องบอกวันเวลาที่คนเมืองแกลง ได้เริ่มขยับชีวิตประจำวันและการทำมาหากินที่ต้องอิงน้ำอิงคลองมาอยู่บนฝั่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 
    
        เราจึงนึกถึงถนนสุนทรโวหาร เป็นภาพแรก ๆ ของคำว่า "ตลาดสามย่าน"...

       เพราะถนนสุนทรโวหาร เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเรือนร้านรวงที่สร้างขึ้นมาแต่ยุคแรก ช่วงปี พ.ศ.๒๔๕๑ นับแต่ย้ายเมืองแกลง จากบ้านดอนเค็ด บริเวณวัดโพธิ์ทองพุทธาราม มาอยู่ ณ บ้านตลาดสามย่าน จากนั้น บ้านเรือนร้านค้าจึงค่อย ๆ ขยับขยาย "ห่างคลอง" ออกไปเรื่อย ๆ จนปัจจุบัน
    
       เพราะถนนสุนทรโวหาร เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการที่สำคัญแต่อดีตมาเนิ่นนานจนคุ้นเคยและชินตาอยู่ ๒ แห่งด้วยกัน
     หนึ่งนั้นคือ เรือน "ที่ว่าการอำเภอแกลง" ที่สร้่างขึ้นหลังจากย้ายที่ตั้งเมืองแกลงมาอยู่บ้านตลาดสามย่านในปี พ.ศ.๒๔๕๑ ไม่นาน และเคยมีหลายส่วนราชการปฏิบัติงานในเรือนที่ว่าการหลังนี้
  
     และอีกแห่งหนึ่งคือ เรือน "สถานีตำรวจภูธรอำเภอแกลง" ที่ชาวบ้านมักเรียกถนัดกว่าว่า "โรงพัก"

       เรือนทั้งสองแห่ง แม้ปัจจุบัน ทั้งที่ว่าการอำเภอและสถานีตำรวจจะได้ย้ายออกไปอยู่ในสถานที่แห่งใหม่แล้ว แต่คนเมืองแกลงในวัยยี่สิบปีขึ้นไป ย่อมนึกเอาภาพของเรือนทั้งสองแห่งนี้  ว่าเป็นส่วนสำคัญของคำว่า "ตลาดสามย่าน" อย่างมิต้องไปคิดเป็นอื่น

       ทั้งหมู่บ้านเรือนแต่เดิม เรือนที่ว่าการอำเภอ เรือนโรงพัก บนถนนสุนทรโวหาร เหล่านี้จึงคือ "สิ่งแวดล้อมทางศิลปกรรม" ที่เปรียบได้ดังองคาพยพส่วนสำคัญของ "ตลาดสามย่าน" อำเภอแกลงล่ะฉะนี้แล