24 มกราคม 2553

เกาหัวแกร็ก ๆ ไปกับ...แก๊ส

แรงไฟจากแก๊สชีวภาพที่ผ่านปั๊มลมอัตโนมัติ
ถังเก็บแก๊สแบบถังโหม่งและแบบบ่อปูน

ผ่านลานประหาร (หมู) คราใด....จะรู้บ้างไหม ว่าใจนั้นคิดถึงแก๊ส...

เรื่องของถังแก๊สชีวภาพ ได้สู้เพื่อให้ใช้ได้จริงมาราวสองปีแล้ว และยืนยันฟันธงได้เลยว่า ถังหมักที่ได้รับมาพร้อมถังเก็บอีกหนึ่งลูก ทำได้ก็เพียงไว้สาธิตให้รู้ว่า "เห็นไหม ๆ ....เศษอาหารกลายเป็นแก๊สหุงต้มได้นะ" เท่านั้น ถ้าจะไม่ให้เพียงแต่เป็นชุดสาธิต ต้องใช้คาถา "ตื๊อ...ๆ ....ๆ และ ตื๊อ...." สถานเดียว

เพราะที่ผ่านมาได้ทำทั้งเพิ่มถังเก็บแก๊สให้มากขึ้นทั้งแบบถังเหล็กและถังปูน เมื่อการหมักนิ่งและแน่นอนแล้ว วันหนึ่งได้เข้าไป youtube หาความรู้ ก็เลยได้รู้ว่าหากจะให้ได้มีเทนที่บริสุทธิ์ขึ้น ต้องให้แีก๊สในถังหมักผ่านกระบอกผงขี้เหล็กที่นำมาจากโรงกลึงเพื่อแยกออกไซด์ และผ่านน้ำหรือน้ำโซดาไฟ เพื่อแยกคาร์บอนไดออกไซด์ออก ให้เหลือแต่มีเทนไปยังหัวเตาแก๊ส

แต่ปัญหาใหญ่ที่ตามมาก็คือ มีเทนเป็นแก๊สเฉื่อย ไม่มีแรงอัด ก็เลยทดลองนำคอมเพรสเซอร์ และเครื่องแวคคั่มมาอัดและดูดอากาศออกจากถังแก๊สขนาดเหล็กที่เราใช้ตามบ้าน ซึ่งก็ล้มเหลวเป็นครั้งที่นับไม่ถ้วน เพราะอัดเข้าถังแล้วน่าจะใช้ทำกับข้าวได้ไม่เกินสี่ห้ามื้อ แก๊สก็หมด

มานั่งตรึกตรองใหม่ ก็เห็นว่าเราน่าจะเหมาะใช้ในการฆ่าหมูมากกว่า เลยไปยืมปั๊มลมดูดแก๊สในถังหมักมาอัดในปั๊มลมอัตโนมัติไว้ แล้วก็ได้เรื่องเพราะมีน้ำผสมเข้ามาด้วยเวลาแก๊สในถังเก็บหมด ที่สุดแล้วปั๊มลมก็ระเบิดมอเตอร์พัง แต่สิ่งที่ได้มาคือ แรงดันไฟที่หัวเตาดีมั่ก ๆ

เห็นได้เลยว่าไฟแรง และก็แน่นอนว่าต้องใช้แก๊สเปลือง เหมือน ๆ ขนาดของถังหมักและถังเก็บจะไม่พอใช้งานอีกแล้วกรณีนำปั๊มลมมาช่วย ...เฮ้อ...คิดแล้วกลุ้ม

แต่เมื่อย้อนมองกลับไป ถังแก๊สก็ให้ปุ๋ยน้ำที่อุดมด้วยจิลินทรีย์ทุกวันอยู่แล้ว ช่วยลดปริมาณเศษอาหารโดยการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ถ้าได้แก๊สอีกอย่างหนึ่งด้วยก็ถือเป็นผลกำไร จะกลุ้มไปทำไม (วะ)


ล้วงไส้...ไส้เดือน

เครื่องบดย่อยที่ปรับปรุงให้ย่อยได้ละเอียดขึ้น
ผักปั่นที่ผสมน้ำจุลินทรีย์ไว้เสร็จเตรียมป้อนไส้เดือน
ให้อาหารสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ๆ ละ กว่าสองร้อยกิโลกรัม
บ้านแบบใหม่ ไม่สิ้นเปลือง สร้า่งเสร็จเร็วไม่เหมือนบ้านเื้อื้ออาทร

เรื่องราวของเครื่องมือกำจัดขยะอินทรีย์อย่างไส้เดือน มีความคืบหน้าที่ต้องเล่าต่อแม้รู้ว่าต่อไปจะก้าวหน้ากว่าวันนี้อีก
จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับปุ๋ยหมักของเทศบาลฯ ซึ่งมีหลายชนิดที่ย่อยยาก อาทิ ฝักและซังข้าวโพด เปลือกเสาวรส เปลือกขนุน ฯ ทำให้ต้องเอาเครื่องบดย่อยไปทำให้ฟันเหล็กสามารถตีวัสดุเหล่านี้ให้แหลกละเอียด และก็ได้ผล ขณะที่เปลือกผลไ้ม้บางชนิดอย่างขนุนก็ให้เป็นหน้าที่ของหมูหลุมและวัวช่วยย่อยให้ปุ๋ยแทนใช้เครื่องยนต์ที่สิ้นเปลืองน้ำมันโดยไม่จำเป็น
เรื่องเดียวกันก็คือ เมื่อปรับปรุงเครื่องบดย่อยมาใหม่แล้ว ขยะอินทรีย์จำพวกผักผลไม้ทั้งที่มาจากรถบรรทุกขยะหกล้อและสามล้อพ่วงข้างก็ให้นำเข้าเครื่องบดย่อยทั้งหมดเพื่อเร่งการย่อยสลายให้เร็วขึ้น เป็นการประหยัดเวลาและพื้นที่กองปุ๋ย โดยนำน้ำจุลินทรีย์ล้างห้องบดย่อยผักไม่ให้เหนียวติดเครื่อง และไม่ต้องเสียเวลาไปพรมน้ำจุลินทรีย์บนกองปุ๋ยอีกต่อไป
แล้วก็คิดได้ว่า อันไส้เดือนนั้น ก่อนหน้านี้ เราให้อาหารโดยการโปรยเศษผักลงไปในบ่อ ไส้เดือนต้องรอจนผักเน่ายุ่ยแล้วจึงจะกินได้ คิดได้ดังนั้น ก็เลยให้แยกเอาผักที่ไม่ใช่เป็นกรดอย่างส้ม มะนาว หรือเครื่องเทศอาิทิ พริก ตะไคร้ ฯ ไปเข้าเครื่องย่อยแล้วทำคล้ายน้ำผักปั่นชนิดร้านน้ำผักผลไม้ปั่นยังอาย นำไปเป็นอาหารไส้เดือน
จากการพิศดูอยู่บ่อย ๆ รู้สึกตรงกับคนเลี้ยงเลยว่า ไส้เดือนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สมบูรณ์ขึ้น กระฉับกระเฉงว่องไว และมาออกันอยู่ใต้กองผักปั่นจำนวนมากเพื่อกินอาหาร ไม่แพ้ที่เห็นมาก ๆ ใต้เปลือกแตงโม แล้วก็เลยมาถึงคิวที่ต้องเพิ่มจำนวนบ้านให้ไส้เดือน เอาถังโหม่งสามสิบลูกมาผ่าแนวตั้งได้บ้านรวมเก้าสิบหลังเชียว นำขี้วัว ขี้ควายคลุกกับขุยมะพร้าว พรมน้ำแล้วแยกไส้เดือนปล่อยลงไป ปิดทับด้วยใบไม้แห้งแทนการใช้ผ้าสแลนบังแดดปิดให้มืดเหมือนก่อน ไม่สิ้นเปลืองแถมจำลองบรรยากาศคล้ายพื้นดินที่มีใบไม้แห้งร่วงปกคลุมเลย
ไส้เดือนจึงเป็นเหมือนเจ้าหน้าที่ไส้เดือนของเมืองแกลงที่ได้รับมอบหมายให้จัดการขยะอินทรีย์เพื่อคืนสิ่งดี ๆ กลับสู่ดินนั่นเอง
ตบท้ายด้วยการฮำเพลงอย่างชื่นใจ....ดินเจ้าเอ๋ยข้าเคยอยู่ใกล้มาก่อน....ดินอุ่นร้อนและเย็นก็เป็นเพื่อนฉัน.....

18 มกราคม 2553

ที่ดักแมลงวัน




บริเวณพื้นที่กองและคัดแยกขยะ แม้จะล้างทุกวันแล้ว ก็ยังอดที่จะมีแมลงวันจำนวนมากไม่ได้ เลยต้องเริ่มเป็น "สายสืบแมลงวัน" แต่แรกก็สังเกตเห็นเศษวัสดุจากการฆ่าสุกรที่โรงฆ่าสัตว์ที่แต่ก่อนเคยใช้น้ำฉีดทิ้งลงไปในบ่อดิน ภายหลังให้ดักด้วยตะกร้าพลาสติคโดยให้น้ำไหลลงบ่อได้เท่านั้น ส่วนกากต่าง ๆ เอาไปวางรอทิ้งใส่รถบรรทุกขยะ ตรงนี้เลยเป็นแหล่งที่ทำให้แมลงวันชุม ภายหลังเลยจึงใช้วิธีจาะถุงดำให้น้ำผ่าน ปิดถุงให้มิดแล้วเอาใส่รถแทนการวางรอ ก็ทำให้จัดการแหล่งแมลงวันไปได้แหล่งหนึ่ง
วันหนึ่งนานมาแล้วแต่ไม่ถึงกับลืม ได้ไปเที่ยวแพที่แหลมยาง เห็นบ้านลุงถึกแกมีที่ดักแมลงวัน นึกขึ้นได้ก็เลยขอมาเป็นต้ัวอย่างและทำตามภาพ ลุงถึกมอบให้พร้อมเสียงหัวเราะ คงงงด้วย ตลกด้วย
หลัก ๆ คือใช้ขวดน้ำพลาสติค (สีเขียวตามรูป) ครอบเศษวัสดุมีกลิ่นที่แมลงวันชอบตอม แล้ต่อหัวขวดทะลุไปขวดอีกใบหนึ่ง หัวขวดลูกที่สองก็ต่อเข้ากับตัวขวดใหญ่ที่มีน้ำเติมอยู่เพื่อไม่ให้ลมพัดขวดล้มได้ง่ายนักและให้แมลงวันที่หลงเข้าไปตกน้ำเมื่้อหมดแรงบิน
แล้วก็ดูเหมือนจะได้ผลด้วยวิธีการง่าย ๆ เอาเสียด้วย เพราะมีแมลงวันบินหลงเข้าไปมากมายตามภาพ ช่วยลดจำนวนแมลงวันได้มาก ขั้นต่อไป จะลองเปลี่ยนน้ำในขวดให้เป็นน้ำที่มีกลิ่นที่แมลงวันชอบ หรือเอาเศษวัสดุไปวางไว้ในขวดใบใหญ่เสียเลย เพื่อเปรียบเทียบกับการใช้เศษวัสดุวางไว้ใต้ขวดเขียว ได้ผลประการใด สายสืบแมลงวันจะรีบขยันรายงานผลทราบต่อไป
แต่แมลงวันตามแหล่งอื่น ๆ บริเวณนี้ ขอให้รีบมอบตัวเสียโดยดี เพราะรับรองสายสืบประจำสถานีนี้ ไม่มีดูทางลมแน่นอน

14 มกราคม 2553

เรื่องแรกเมื่อแรกเริ่มปี ๕๓






วันจันทร์ที่ ๔ มกรา นัดเวลาที่ ๘ โมงเช้ากับเจ้าหน้าที่งานสวนฯ กองช่างและงานกองสาธารณสุขราว ๔๐ คน เพราะอยากพูดคุยกันเสียแต่ต้นปีให้เกิด "ความเข้าใจร่วมกัน" หนึ่งนั้นคือ ขอให้ร่วมกันทำงานจัดการของเสียให้เป็นของดีนี้ด้วยความตั้งใจร่วมมือกัน ได้เล่าว่า ณ ที่แห่งนี้ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพราะ "ก้อนพลังงาน" จากที่มอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง ปิคอัพ และรถหกล้อที่ไปนำมาจากครัวเรือนในเขตเมือง
ได้เล่าต่อไปว่า รายรับของเจ้าหน้าที่ทุกคนจะมาจากสายพานที่เรานำมาคัดแยกขยะรีไซเคิล ถุงพลาสติค และขยะอินทรีย์ที่นำไปทำปุ๋ย และเศษอาหาร เศษผักผลไม้จากการไปบรรทุกมาของมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหมูหลุม แพะ กระต่าย ไส้เดือน วัว จุลินทรีย์ ที่จะต้องแปลงให้เป็นปุ๋ยบำรุงดินแก่เรา เจ้าหน้าที่ทั้งสองกองจะแยกกันทำงานไม่ได้ เพราะเนื้องานจะผูกโยงกันดังว่า เช่นเดียวกับไขมันที่นำไปทำหน้าที่เหมือนกับไม้ฟืนต้มน้ำร้อนในโรงฆ่าสัตว์
กระบวนการเหล่านี้ เมื่อมาถึงขณะนี้ "การทำให้เกิดประสิทธิภาพ" จึงเป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงต่อไป เช่น กรณีการลำเลียงขยะขึ้นสายพาน ทำอย่างไรจึงจะเหนื่อยน้อยลง แต่ประหยัดเวลาและได้ผลมากขึ้น เป็นต้น
ปิดท้ายวันนั้น คือการมอบเงินจากขยะรีไซเคิลและปุ๋ย พืชผักต่าง ๆ ที่ขายได้แก่คนทั้งกว่าสี่สิบคน โดยที่เทศบาลฯ ก็ได้ประโยชน์จากการประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสียเมื่อมีการคัดแยกและนำกลับมาใช้ใหม่ โดยที่ "ดิน" ก็ได้ธาตุอาหารไปบำรุงให้มีชีวิตเพื่อไปผลิตอาหารที่ปลอดภัยกลับมาสู่คน และโดยที่ "โลก" ก็ได้รับการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนจากหน่วยงานเล็ก ๆ จากเราอย่างสมประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย...และ...
หากการจัดการของเสียด้วยวิธีที่กล่าวมานี้ เคยมีผู้คิดค้นไว้ก่อนหน้า ก็นับได้ว่าเราได้แปรเอาความคิดดังว่ามาสู่การปฏิบัติและลงมือทำเป็นกิจวัตร แต่หากยังไม่มีผู้ใดผูกโยงเรื่องราวต่าง ๆ ให้ออกมาเป็นเรื่องราวเช่นที่เรากำลังทำอยู่ เราก็ควรพอใจและดีใจที่ได้เลือกหนทางพัฒนาเมืองด้วยพวกเรากันเอง

10 มกราคม 2553

พื้นที่ต้องสงสัย




ครั้งหนึ่ง ไม่ถึงกับนานมาแล้ว
เคยพยายามบอกกับผู้ที่จะยกห้องแถวให้หันมายกเพิงให้เช่าจอดรถ สำหรับทำเลที่เหมาะสม เพราะจำนวนห้องว่างให้เช่านั้น ว่างเยอะจริง ๆ
แล้วก็มีผู้ทำที่จอดรถให้เช่าไปหลายราย ช่วยลดจำนวนรถยนต์ที่มาจอดกองบนถนนได้มากอย่างน่าพอใจ
วันนี้...ที่เพิ่งคิดไปแหม่บ ๆ ช่วงสองสามวันมานี้...
มีคำถามในความคิดว่า....จะมีสักกี่คนในเมืองแกลงที่มีที่ทางสำหรับทำห้องแถวหรือที่จอดรถให้เช่า เพราะคนกลุ่มใหญ่ไม่ได้เป็นราชาที่ดินหรือมีเงินเย็นนอนอยู่
ผนวกกับเมื่อมาปลูกผัก ก็เลยได้ทั้งคำถามและความคิดว่า...
ในพื้นที่สำหรับยกห้องแถว ๑ ห้องขนาดน่าจะอยู่ประมาณ ๔ คูณ ๑๒ หรือ ๔๘ ตารางเมตร ( ๑๒ ตารางวา) ต้องใช้เงินลงทุนประมาณ ๑ แสนบาท หากมีคนเช่าจะเก็บค่าเช่าได้ระหว่าง ๘๐๐ ถึง ๑๕๐๐ บาทขึ้นอยู่กับทำเล
หากทำที่จอดรถให้เช่า ๑ ล็อคน่าจะอยู่ประมาณ ๔ คูณ ๖ หรือ ๒๔ ตารางเมตร (๘ ตารางวา) ใช้เงินลงทุนสักล็อคละ ๕๐๐๐๐ บาท หากมีคนเช่าจอดรถน่าจะเก็บค่าเช่าได้ประมาณ ๕๐๐ ถึง ๖๐๐ บาทขึ้นอยู่กับทำเล
เมื่อมาดูแปลงผักในเนื้อที่เท่ากับยกห้องแถว ๑ ห้อง คือราว ๆ ๑๒ ตารางวา จะทำแปลงผักได้ประมาณ ๕ แปลง ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก (เพราะคนมีทุนจะมีสักกี่คนกันป ขอเพียงแต่มีแรงงาน มีน้ำ และมีดินที่ดี ถ้าปลูกแล้วขายได้สักแปลงละ ๒๐๐ บาท ใน ๑ เดือนถึง ๔๕ วันก็จะมีรายได้สัก ๑๐๐๐ บาท
ดูแล้ว การปลูกผักเทียบกับยกห้องแถวให้เช่า ก็น่าจะมีรายได้ใกล้เคียวกัน แต่จะต่างกันตรงที่ การทำห้องแถวให้เช่า ต้องใช้เงินลงทุนมาก ความเสี่ยงสูงกว่า (เพราะแจ้งห้องว่างเพื่อขอเว้นภาษีเยอะมาก) แต่การปลูกผักใช้เงินลงทุนน้อยมาก แต่ต้องใช้แรงงาน ต้องหมั่นคอยดูแล รวมถึงการต้องมีน้ำมีปุ๋ยที่ดี ซึ่งฐานคนที่ไม่มีเงินทุน ไม่มีที่ดิน แต่มีเรี่ยวแรงนี้จะมากกว่า
จากนี้ไป เทศบาลฯ กำลังจะพิสูจน์สมมุติฐานนี้ว่า จะเป็นอย่างไร แต่ต้องบนพื้นฐานที่ต้องเน้นความพอดี แต่มีประสิทธิภาพ
ความคืบหน้าจะ "จำนรรจา" มาเฉลยต่อไป

04 มกราคม 2553

ตัวชี้เทศบาลฯ





จะบอกกล่าวเรื่องการจัดการของเสียของเทศบาลฯ ว่าด้วยผลที่ปรากฏในเดือนธันวาคม ส่งท้ายปี ๕๒ เลยไม่รู้จะจั่วหัวว่า "ตัวชี้วัด" ไปทำไม ใช้คำว่า "ตัวชี้เทศบาลฯ" ให้มันเข้าใจยาก ๆ เสียดีกว่า
บรรดาคนในระบบตรงนี้เขาแจ้ังตัวเลขการนำของเสียของเมืองเข้ามาในระบบการแปรรูป (ทำปุ๋ย เลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ) การนำกลับไปใช้ใหม่ (ขยะรีไซเคิล ถุงพลาสติค) ในเดือนธันวาว่า ได้น้ำหนักถึง ๔๖,๑๖๗ กิโลกรัม ในจำนวนนี้เป็นขยะรีไซเคิลเสียหนึ่งตันกับเจ็ดร้อยกว่าโล เป็นถุงพลาสติคอยู่เจ็ดร้อยกว่าโล เป็นเศษอาหารเลี้ยงหมู แพะ ไส้เดือน กระต่าย วัว เป็ดเสียแปดตันกว่า ที่เหลือเป็นขยะที่นำไปทำปุ๋ยหมักอีกสามสิบห้าตันกว่า
แต่การณ์กลับปรากฏว่าน้ำหนักขยะเทียบกับเดือนเดีวกันปีก่อน ได้ลดลงจากราว ๔๙๙ ตันเหลือเพียง ๓๔๐ ตัน หรือลดลงไปถึง ๑๕๘,๓๐๐ กิโลกรัม นับเป็นการลดลงมากที่สุดคือต่ำกว่าสี่ร้อยตันต่อเดือนเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสิบปี
เรื่องประโยชน์ของขยะนี้ต้องเคาะต้องตีกันไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวนี้แหล่งใหญ่ ๆ อย่างตลาดสดมีชาวบ้านไปช่วยเก็บเศษผักผลไม้ไปเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น ร้านอาหารก็มีชาวบ้านไปแบ่งเอาไปเลี้ยงหมูเหมือนเทศบาล แถมถุงพลาสติคราคาไม่ต้องล้างขยับไปถึงกิโลละสามบาทห้าสิบสตางค์และหักน้ำออกจาก ๒๕% เหลือแค่ ๑๐% เป็นการได้เครือข่ายการนำกลับไปใช้ใหม่อย่างน่าสนใจ
ทั้งคนในเขตเทศบาลและคนของเทศบาลต้องร่วมกันเข้าใจเรื่องขยะนี้ให้กระจ่าง รู้จักคัดรู้จักแยก รู้ว่าอะไรจะนำไปใช้ช่องทางไหน เพื่อที่การลดลงทุก ๆ ๑ กิโลกรัมของขยะ จะได้ช่วยรักษาเงินทองของบ้านเมืองไว้ไม่ต้องใช้ไปโดยเปล่าประโยชน์
ไม่เชื่อก็อยากท้าให้ลองคำนวณค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทุกโมงยาม ทุกวี่วันสำหรับด้านการจัดการของเสียดูว่า ปี ๆ หนึ่งต้องหมดกันไปแห่งละกี่ล้าน และคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของงบลงทุน
แม้หนาวนี้จะไม่ค่อยหนาว แต่รับรองว่า เห็นค่าใช้จ่ายตัวนี้แล้วจะหนาวอย่างน่าเสียดายจริง ๆ

ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท


เอย...มาจะกล่าวบทไป
พอพ้นเดือนธันวา ที่ชาวประชาเป็นสุข
ในหลวงหายประชวร เราต่างล้วนหมดทุกข์
น้อมนำพระราชดำรัส ร้อยกลัดใส่เกล้า
ทำงานให้ดี ทำหน้าที่อย่้างพันผูก
ชาติต้องเดินหน้า รักษาไว้เพื่อหลานลูก
ทุกคนร่วมใจ รับขวัญปีใหม่เอย

03 มกราคม 2553

ก้อนพลังงาน





เพ่งพิศพินิจดูกองขยะที่มาจากบ้านเรือนชาวบ้านเพื่อดั๊มพ์ก่อนขึ้นสายพานคัดแยกมานานแรมปี มาวันหนึ่งจึงรู้ว่า กองขยะนี้ เปรียบเหมือนก้อนพลังงานหรือก้อนแบตเตอรีที่มีพลังงานสะสมอยู่
มันจะเป็นอื่นไปไม่ได้ เพราะวัสดุทุกชนิดในกองขยะนี้ มันถูกผลิตด้วยการอาศัยพลังงานทั้งสิ้น จะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงจากภาคขนส่ง ภาคการผลิต หรือกระแสไฟฟ้าที่ต้องใช้ในการผลิต หรือแม้แต่แรงงานของคนที่ถูกใช้ในกระบวนการผลิต แรงงานก็มาจากการสะสมพลังงานของร่างกายที่ต้องบริโภคสารอาหารจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อให้ได้พลังงาน หมุนเวียนกันไม่รู้จบ
กองขยะเหล่านี้ จึงมีพลังงานแฝงอยู่พร้อมที่จะสปาร์ค หรือ สตาร์ทสิ่งใด ๆ จากพลังงานที่มันสะสมอยู่เสมอ อาทิ เมื่อเรานำมันขึ้นสายพานคัดแยกเป็นเศษขยะอินทรีย์ (คิดง่าย ๆ คือของที่เน่าเสียได้) หรือรู้จักแยกประเภทเศษอาหาร เศษผักผลไม้ไว้ตั้งแต่ที่บ้าน แล้วนำไปให้สัตว์กิน สัตว์ก็มีพลังงานที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ และพร้อมที่จะให้ประโยชน์กับเราในรูปของเนื้อ นม ไข่ หรือมูลปุ๋ยคอก
หรือเมื่อนำไปวางกองทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยหมักก็จะไปเป็นพลังงาน เป็นธาตุอาหารในดิน ให้เหมาะที่จะเพาะปลูกพืชผักได้ต่อ
เมื่อเราแยกขยะรีไซเคิลออกมาแล้วส่งต่อโรงงานรีไซเคิล ขยะรีไซเคิลมันก็สามารถถูกแปรรูปหรือปรับสภาพให้สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้อีกครั้ง แทนที่พลังงานที่เกิดจากการต้องหาวัสดุใหม่มาใช้ในการผลิต
ถุงพลาสติคที่เราคัดแยกก็เช่นกัน ที่จะนำไปแปรรูปเป็นพลังงานในรูปของน้ำมันเชื้อเพลิงแทนการต้องขุดจากใต้พิภพขึ้ันมาใช้แต่วิธีเดียว
จึงสำหรับในวันนี้ เมื่อพิศดูจากกองขยะที่บอกกล่าวกันว่ามันคือก้อนพลังงาน หรือก้อนแบตเตอรีีที่สะสมพลังงานอยู่ หากเรารู้และเข้าใจที่จะหาทางนำมันมาใช้ ก็เพราะเราแยกได้ทั้งขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล และถุงพลาสติค สามประเภท
และที่เหลือจากนี้ แม้ต้องลำเลียงไปยังหลุมฝังกลบก็ตาม แต่...ณ ที่แห่งนั้น ก็เปรียบดังขุมทองแม็คแคนนาไม่ปาน เพราะกำลังมีการคิดที่จะนำเอาแก๊สมีเทนจากขยะตรงนั้นไปใช้ประโยชน์ หรืออีกหนทางหนึ่งก็คือ นำเอาขยะตรงนั้นไปเผาเพื่อต้มน้ำและเอาแรงดันไอน้ำ (หลักการคล้ายหัวรถไฟสมัยโบราณ) ไปปั่นเครืื่องเจเนอเรเตอร์สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้ากลับมาใช้กันใหม่ต่อไป
ป่วยการต้องไปขุดทองที่ถ้ำลิเจียที่แสนละเหี่ยใจ หรือร่อนเศษทองที่นั่นที่นี่ เพราะบ้านเรามีทองอยู่ทุกวี่ทุกวัน

02 มกราคม 2553

บ้านใหม่เพื่อไส้เดือน...ไม่แพงเลย






บ้าน (Bedding) สำหรับไส้เดือนเมื่อแรกเลี้ยง สร้างด้วยปลอกบ่อชั้นเดียววางกับพื้น ต่อมาสังเกตว่าการเลี้ยงไส้เดือนตามแนวราบดูจะกินพื้นที่ ก็หาทางเลี้ยงแบบทางสูง โดยตอกชั้นไม้แล้วซื้อกะละมังพลาสติคขนาดสำหรับเด็กทารกแช่น้ำมาวางในชั้น
เมื่อมีเวลาใคร่ครวญ ก็เห็นว่า ยังมีอาหารของไส้เดือนให้เลี้ยงเพิ่มได้อีกมากกว่าที่เลี้ยงในปลอกบ่อและกะละมัง ก็จึงแบ่งพื้นที่ในเรือนเพาะชำอีกบริเิวณหนึ่งก่อปูนเป็นบ่อสี่เหลี่ยมได้ห้าแถว วางแกนท่อและระดัีบลาดเอียงของพื้นให้สามารถนำน้ำไส้เดือนไหลมารวมกันในบ่อพัก และเช่นเคย เมื่อเห็นที่วางด้านบนยังไม่ถูกใช้ ก็จึงทำชั้นโครงเหล็กตั้งยึดอยู่กับขอบบ่อสี่เหลี่ยม แล้วหากะละมังขนาดเขื่องมาวางได้กว่าแปดสิบลูก ทำให้เลี้ยงไส้เดือนได้เพิ่มขึ้นอีกมาก และยังมีอาหารจากผักผลไม้ที่ชาวบ้านทิ้งมากพอ
แต่ความอึดอัดก็คือ ถ้าจะเลี้ยงเพิ่มโดยการเลี้ยงแนวดิ่งก็ยังทำได้ แต่สนนราคาของกะละมังใบใหญ่ตกถึงลูกละแปดร้อยห้าสิบบาท แล้วอะไรจะเป็นภาชนะที่มีราคาถูกและไส้เดือนอยู่ได้ เที่ยวตระเวนเล่าไปคิดไปให้คนโน้นคนนี้ฟังทั้งบ่นทั้งถามไปเรื่อย จนได้ความจากคุณธงชัย รองนายกฯ ผู้มีชีวิตที่บ้านแบบดิบ ๆ น่าอิจฉาว่า ไม่ลองใช้ถังโหม่งดู
แล้วก็ "ยูเรคา" (ฉันพบแล้ว) เข้าจนได้ เพราะช่างได้ผ่าถังโหม่งที่ยังเก็บไว้แต่เมื่อคราวทำทุ่นแพลอยกระทง โดยผ่าในแนวนอน หนึ่ลูกได้สองบ้าน หาวิธีทำยังไงไม่ให้เหล็กตัวถึงผุกร่อนเร็ว ก็ใช้ถุงดำใส่ขยะรองพื้น ที่ก้นถังด้านหนึ่งเจาะรูให้น้ำไส้เดือนผ่านไหลตกลงมาเป็นชั้น ๆ ได้ ทำระดับลาดเอียงง่าย ๆ โดยใช้ไม้ซี่ชิ้นเล็ก ๆ หนุนก้นถังด้านหนึ่งให้สูง จัดแจงให้คนสวนทำบ้านใหม่แล้วย้ายสมาชิกใหม่เข้าไปอยู่ ทำให้มืดด้วยเศษสแลนสีดำคลุมไว้ด้านบนแต่ละบ้าน
ชื่นใจเพราะถังโหม่งเขาซื้อขายกันปัจจุบันลูกละราวสองร้อยบาท ผ่าซีกได้สองบ้าน ตกราคาบ้านไส้เดือนหลังละร้อยบาทไ่ม่รวมโครงสร้างอาคาร (ชั้นเหล็กกล่องแนวตั้ง) คิดแล้วราคาถูกกว่ากะละมังพลาสติคถึงแปดเท่า ประหยัดเนื้อที่วางถังและมีความจุใกล้เคียง
เข้าทางเลย...ที่ว่าต้องปรับประยุกต์ทุกอย่างให้มีต้นทุนต่ำ เพื่อไม่เดือดร้อน จากนี้ไปก็ได้เวลาเป่านกหวีดบอกไส้เดือนให้รีบ ๆ โต รีบ ๆ ขยายพันธุ์กันเร็ว ๆ เพื่อเอาปุ๋ยทั้งเนื้อทั้งน้ำไปบำรุงดินกันต่อไป
(๑๘ มกราคม ๒๕๕๓) ความไม่รู้จะมาก่อนความรู้เสมอ ที่ว่าผ่าถังโหม่งแนวนอนเพื่อเป็นที่เลี้ยงไส้เดือน และจะสามารถประหยัดต้นทุน ประหยัดที่ได้มากกว่าเดิมนั้น ขณะนี้ได้ผ่าถังแนวตั้ง ซึ่ง ๑ ลูกจะผ่าออกเป็น ๓ ลูกโดยช่วงกลางถังเมื่อผ่าแล้วไม่มีพื้นฝาก็ใช้ไม้อัดเป็นพื้นแทน รวมแล้วจุได้มากกว่า กินที่น้อยกว่า และไม่ต้องทำขาเหล็กให้เปลืองด้วย เหล่านี้ล้วนมาจากการหมั่นสังเกตทั้งนั้น