29 พฤษภาคม 2553

การเดินทางของเมล็ดผักบุ้ง


ท้องอิ่ม...คือปลายปัจฉิมของเมล็ดผักบุ้ง


     เธอเห็นผักบุ้งนั่นไหม                      เห็นสิ่งใด  ภายใต้  ใบสีเขียว
ยี่สิบแปดวันผ่านไป ประเดี๋ยวเดียว          คือนั้นเชียว อาหาร ให้เรากิน


     เธอเห็นผักบุ้งนั่นไหม                    งามอวบใหญ่ เพราะได้ ปุ๋ยในถิ่น
จากขยะอินทรีย์ ที่เหลือกิน                 บำรุงดิน เลี้ยงต้น ให้เติบโต


     เธอเห็นผักบุ้งนั่นไหม                    มันทานได้ ใช่ว่า ของดูโก้
ลงความคิด ลงแรง ไม่อดโซ               เมืองเติบโต อพิโถ ต้องซื้อกิน


     เธอเห็นผักบุ้งนั่นไหม                    เกิดมาได้ จากนี่ไง..ธรณินทร์
ขอดินดีสี "ดำ...ทั้งแผ่นดิน"               มีวาริน ประทินเมือง ให้เฟื่องฟู


เรื่องราวการเดินทางของผักบุ้ง คือตัวอย่างของการทำเกษตรเมือง หรือเกษตรของบ้านที่อยู่ในเมือง โดยอาศัยการนำของเหลือใช้ให้กลับมาเป็นประโยชน์ในรูปของปุ๋ยเพื่อบำรุงดิน เพื่อให้ดินสร้างอาหารกลับมาให้เรา  เราจะได้ทานพืชสด ๆ สะอาด ปลอดภัยจากดินโดยไม่ต้องกินซากพืชที่ขนมาจากที่อื่นซึ่งไม่รู้ว่ามาจากไหน ปลูกอย่างไร  เราจะได้ความสวยงามเขียวชอุ่ม ได้ลดการเดินทางของอาหาร (Food miles) ได้ช่วยลดโลกร้อน


๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๓



วามเดิมจากตอนที่แล้ว...


เมื่อพบว่าริมร่องระบายน้ำที่มาจากการล้างลานเครื่องบดย่อยขยะอินทรีย์นั้น มีธาตุอาหารอันอุดม โดยสังเกตได้จากความงามของพุทธรักษา กับจำนวนไส้เดือนบริเวณริมร่องน้ำนี้ และเพราะมีความชื้นอยู่ตลอดเวลา


จึงหว่านเมล็ดผักบุ้งตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม จากนั้นมันก็เริ่มยืดรากยืดขา สร้างลำต้น ใบมาโดยลำดับ ตามภาพที่ถ่ายทำแบบบ้าน The star ยังไงยังงั้นเลย


พวกเมล็ดพืชนี้ก็แปลก เวลาอยู่ในถุง อยู่ในร้านมันไม่มีอาการขยับ หรือเติบโตให้เห็นเลย คงจำศีลอยู่แต่ในเปลือกที่ห่อหุ้มมันอยู่ยังไงยังงั้น ครั้นพอได้อยู่กับดิน อุณหภูมิ ความชื้นที่พอเหมาะ มันกลับเกิดเป็นต้นขึ้นมาได้


คิด ๆ แล้วน่าจะเอามัมมี่ที่อียิปต์มาทดลองวิธีนี้บ้าง เผลอ ๆ อาจจะลุกขึ้นมาได้อีกครั้งใครจะไปรู้ ขนาดเมล็ดข้าวอายุสามพันปีที่เวียดนามยังสามารถงอกเป็นต้นได้เลย  



























16 พฤษภาคม 2553

ดอกไม้ ดิน น้ำ ความชื้นและไส้เดือนในท้องร่อง....

ธาตุอาหารในร่องน้ำที่ไหลมาจากโรงบดย่อย

แนวร่องน้ำที่ได้ขุดขยายเพื่อเพิ่มพื้นที่

ไส้เดือนจำนวนมากอยู่อาศัยในดินริมร่องน้ำเพราะ
มีอาหารอุดมสมบูรณ์

ต้นไม้งาม ไส้เดือนอยู่ได้ ดินร่วนซุยและมีความชื้น

ที่หน้าเรือนเพาะชำ ด้านติดกำแพงมีระดับความสูงของพื้นดินมากกว่าด้านหลังศาลา เมื่อฝนตก น้ำฝนจึงไหลไปตามแรงโน้มถ่วง ภายหลังได้ขุดร่องระบายน้ำเพื่อให้น้ำไหลไปลงบ่อหลังโรงจุลินทรีย์ และในยามปกติ เมื่อมีการล้างลานบดย่อยขยะอินทรีย์และกิ่งไม้ รางนี้ก็ใช้ระบายน้ำเหล่านี้ได้

แต่ริมร่องระบายน้ำนี้ ได้มีการนำเอาต้นพุทธรักษามาปลูกสำหรับนำดอกไปใช้ประดับในห้องประชุมชั้น ๓ มานานกว่าปีแล้ว ช่วยให้ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อดอกไม้มาใช้เหมือนก่อน และเมื่อมีการเลี้ยงไส้เดือนขึ้นในโรงเรือนเพาะำชำ ริมร่องน้ำที่มีสภาพชื้นบริเวณนี้ ก็เป็นแหล่งอาศัยของไส้เดือนจำนวนมากมาย ขนาดที่สามารถจะขุดแยกไปขยายในบ่อเลี้ยงไส้เดือนได้คราวละมาก ๆ รวมถึงบริเวณร่องข้างโรงแพะที่มีความชื้นจากการล้างโรงเรือนและมีเศษมูลแพะไหลไปรวมกันทุกวัน ๆ ก็เป็นแหล่งอาศัยของไส้เดือนจำนวนมากเช่นกัน

พิศดูแล้ว ก็จะเห็นว่า เหตุที่ต้นพุทธรักษาริมร่องน้ำงามได้ และมีไส้เดือนมาอาศัยอยู่ริมร่องน้ำ ก็เพราะน้ำล้างเครื่องบดย่อยและล้างพื้นนั้นได้นำเอาเศษผักผลไม้ที่บดย่อยซึ่งเป็นปุ๋ยสำหรับดิน และเป็นอาหารสำหรับไส้เดือนไหลผ่านมาทุกวัน ๆ และเพราะในเวลาบดย่อยผักผลไม้เหล่านี้ ก็ได้ใช้น้ำจุลินทรีย์ล้างห้องบดเพื่อให้จุลินทรีย์ได้คลุกเคล้าพร้อมกันไปด้วย ดินริมร่องน้ำจึงเป็นดินดี มีความชื้นตลอดเวลา เหมาะแก่การเติบโตของต้นพุทธรักษา และมีไส้เดือนอยู่คอยช่วยพรวนให้ดินร่วนซุยอีกด้วย เช่นเดียวกับร่องน้ำข้างโรงเลี้ยงแพะ ก็มีทั้งความชื้นจากน้ำที่ล้างพื้นโรงเรือน และเศษมูลแพะที่เป็นอาหารชั้นดีของไส้เดือนไหลไปทุกวัน ไส้เดือนจึงมีจำนวนมาก เพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์

คิดถึงบริเวณที่มีน้ำครำ หรือสมัยก่อนเขาเรียกกันว่า "ขี้ซำ" แม้ด้านหนึ่งอาจมองเหมือนเป็นน้ำเสียที่แสนจะไร้ค่า แต่ก็มีต้นไม้บางชนิดที่เติบโตได้ดีและชอบสภาพดินชื้นแบบนี้ ไม่นับรวมพืชชนิดเล็ก ๆ อย่างตะใคร่น้ำ เป็นต้น แล้วก็เลยย้อนคิดไปอีกว่า เคยเห็นหนอนเกิดขึ้นมากมายในน้ำที่ไหลมาจากรถขนขยะ ซึ่งถ้าเป็นน้ำดี หนอนก็ไม่มีทางเกิดได้เหมือนกัน เลยพอสรุปได้ว่า "ในเสียมีดี ในดีมีเสีย"

เมื่อกลับมาดูร่องน้ำที่ได้ขุดให้ยาวขึ้น เพื่อที่จะให้มีพื้นที่รับน้ำที่มีธาตุอาหารสำหรับดินจากการล้างโรงและเครื่องบดย่อยขยะอินทรีย์แล้ว นอกจากต้นพุทธรักษาที่ช่วยประหยัดเงินซื้อดอกไม้มาตลอดแล้วนั้น จากนี้ไปก็จะได้ลองโรยเมล็ดผักบุ้งให้ไปเติบโตริมร่องน้ำที่มีความชื้น มีธาุตุอาหารในดินอันอุดม และมีไส้เดือนคอยพรวนดิน เพื่อให้ผักบุ้งได้กลายมาเป็นอาหารสำหรับเราต่อไป....จะคิดอะไรให้ยากไป...ทำไมมี

เมืองไทย...ใหญ่อุดม ดินดีสมเป็นนาสวน....

เพื่อนรักเราชักชวน ร่วมช่วยกัน มุ่งหมั่นทำ....

05 พฤษภาคม 2553

ศาลาเก้าเหลี่ยม






ทราบจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ถึงเหตุที่ยังไม่ได้ส่งแบบแปลนศาลาเก้าเหลี่ยมมาให้เทศบาลฯ เพราะติดช่วงเลือกตั้งเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา.....

ในราวเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่อติดต่อไปแล้วก็ได้รับแบบแปลนศาลาดังกล่าว และได้มอบกองช่างประมาณการราคาจนแล้วเสร็จ เพื่อหาหนทางที่จะสร้างไว้ในที่ดินของมูลนิธิฯ ณ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พระพรรษา ดังที่ท่านประธานมูลนิธิฯ ได้เคยปรารภมอบโอกาสไว้คราวที่เดินทางมาตรวจเยี่ยมพื้นที่

แต่แรก ตั้งใจว่าจะสร้างในพื้นที่ด้านทิศเหนือของสระน้ำ ซึ่่งยังมีที่ดินรอการพัฒนาตรงนั้นอีกราวห้าไร่ เมื่อได้ไปพิจารณาตำแหน่งที่จะสร้างหลายครั้งเข้า ก็รู้ได้ทันทีว่า ลำพังจะสร้างแต่องค์ศาลาไว้โดดเดี่ยวนั้น ก็คงจะดูแปลก ๆ ที่ถูกต้องมีองค์ประกอบหรือเครื่องเคียงในบริเวณที่จะสร้างด้วย ได้ใช้เวลาใคร่ครวญก็คิดว่า ที่ดินตรงนั้น ยังไม่น่าจะถึงเวลาเข้าไปพัฒนา เพราะต้องมีการออกแบบให้เชื่อมโยงในหลายเรื่อง อาทิ เส้นทางเลียบชายคลอง จุดชมวิว จุดขึ้นลงเรือ ฯ หากสร้า่งไปโดด ๆ คงจะมีการใช้งานหรือเข้าไปสัมผัสกันน้อย

ที่สุดแล้ว ก็ตัดสินใจว่า จะก่อสร้างศาลานี้ให้เป็นศาลากลางน้ำ เพื่อให้มีความโดดเด่น และมีความน่าสนใจที่จะเข้าไปสัมผัส เพราะสถานที่ใด ๆ หากมีน้ำ จะเป็นคลอง เป็นสระ เป็นบึง ก็ย่อมทำให้เรารู้สึกเย็น อ่อนโยน และสบายใจเสมอ
แล้วความยากในการออกแบบก็เกิดขึ้น แต่เป็นความยากที่มีความสุขซ่อนไว้ในทุก ๆ รายการที่เป็นงานในลักษณะนี้ เช่น งานก่อสร้างหอประวัติศาสตร์เมืองแกลง งานก่อสร้างศาลาต้นโพธิ์ ศาลาแหลมท่าตะเคียน รวมถึงสะพานฉลองสิริราชย์สมบัติครบ ๖๐ ปีที่ซอยท่ายายบุึญ และสะพานฉลอง ๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่านที่ถนนโพธิ์ทอง
คราวที่ได้เรียกแบบศาลาเก้าเหลี่ยมกลับมาพิจารณาอีกรอบหนึ่ง หลังจากตัดสินใจให้เป็นศาลากลางน้ำแล้ว จึงรู้ว่าศาลานี้ออกแบบให้มีขนาดกว้าง ๘.๔๐เมตร และระยะเวลาก่อสร้างนี้ ในใจก็คิดว่าคงจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๔ อันเป็นปีที่รัฐบาลจะต้องจัดให้มีงานฉลองพระชนมายุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ ๗ รอบ หรือ ๘๔ พรรษาอย่างพอดีกับช่วงเวลา....

แล้วธงในใจเกิดขึ้นโดยฉับพลัน แล้วแรงบันดาลใจก็เกิดขึ้นมากมายที่จะพยายามผลักดันให้งานก่อสร้างศาลากลางน้ำนี้สำเร็จให้จงได้ พยายามคิด ไปพิศดูสถานที่จริงนับครั้งไม่ถ้วน และตรึกตรองในกมลไม่ขาดตอนเลย จึงมีแนวที่ได้แจ้งกับช่างไปว่า อันสระน้ำที่สนามกีฬานี้ มีคันสระลาดยางกว้าง ๑๐๐ เมตร ยาว ๑๖๐ เมตร คิดเป็นเนื้อที่ ๑๐ ไร่พอดี ขอให้ไปออกแบบวางสะพานจากส่วนกว้างของสระทางด้านทิศเหนือ มุ่งมาทางใต้ โดยให้สะพานมีความยาว ๘๔ เมตรหรือประมาณกึ่งกลางของสระด้านยาว ราวสะพานเชื่อมศาลา รวมถึงเสาโคมไฟตามทาง ให้มีเอกลักษณ์หรือนำเค้าโครงจากงานศิลปกรรมของหัวหิน อาทิ สถานีรถไฟหัวหิน หรือพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เนื่องจากศาลาเก้าเหลี่ยมที่จะสร้างนี้เป็นศาลารูปแบบเดียวกับศาลาชายหาดของพระราชวังไกลกังวล หัวหินเช่นกัน จะได้เป็นเรื่องราวสอดรับกันไป ส่วนช่วงสะพานยาว ๘๔ เมตรนั้น ให้มีระเบียงแยกออกไปฝั่งละหนึ่งช่อง เพื่อเป็นจุดยืนชมวิว โดยไม่ต้องไปยืนกีดขวางการสัญจรไปมา
สำหรับสันทางตลอดส่วนกว้างของสระที่ยาว ๑๐๐ เมตรนั้น ให้ออกแบบเป็นระเบียงยื่นมาทางทิศใต้ประมาณ ๒๐ เมตรตลอดแนว เพื่อใช้เป็นลานเอนกประสงค์ที่มีใต้ถุนเป็นระดับน้ำที่อยู่เรี่ย ๆ กับระดับท้องพื้นลานซึ่งเราสามารถควบคุมระดับน้ำในสระได้ด้วยการสูบเข้าออกตามต้องการ
วัสดุพื้นลานให้ใช้ไม้เทียมที่มีความหนา และทนแดดทนฝน มีช่องเล็ก ๆ ระหว่างไม้เทียมแต่ละแผ่นเพื่อระบายอากาศ ระดับพื้นลานนี้ให้ต่ำกว่าระดับทางลาดยางคันสระ มีช่องขึ้นลงเพียงช่องเดียว ลดความวุ่นวาย และเพื่อแยกออกมาเป็นอีกโลกหนึ่งที่จะนั่งหรือยืนทอดอารมณ์กับผิวน้ำที่พลิ้ว ๆ เพราะแรงลมในสระ
มุมที่น่าสนใจที่สุดของลานนี้ คือมุมด้านทิศตะวันตกที่กำหนดให้มีศาลาขึ้นอีกหนึ่งหลังบนลานนี้ และมีระดับพื้นศาลาสูงกว่าทางลาดยาง เพื่อให้คนในศาลาได้มองเห็นความเคลื่อนไหวของผู้คนบนลานในสระน้ำ และได้เห็นทัศนียภาพของคลองประแสที่ไหลโอบอยู่ใกล้ ๆ ได้สุดสายตา

ส่วนระเบียงของลานนี้ กำหนดความสูงไว้เพียงระดับไม่เกิน ๑ เมตร เป็นระเบียงโปร่งตา เพื่อให้คนที่เดินหรือวิ่งอยู่ตามคันสระได้เห็นความเคลื่อนไหว และสุดท้ายคือด้านหน้าของใต้ถุน ให้ออกแบบงานคอนกรีตเพื่อบังเสาใต้ถุน เป็นลักษณะโค้งเหมือนช่องระเบียงโบราณเรียงกันไปตลอดแนว จะทำให้รู้สึกเหมือนช่องอุโมงค์ที่ดูลึกและยังไปต่อได้อีก รวมถึงสร้างการเบรคหรือหยุดสายตาเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากน้ำพุกลางสระที่มีอยู่แล้ว

งานก่อสร้างนี้ จะนำเข้าขอความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลงในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้เป็นอีกจุดสำคัญหนึ่งของสนามกีฬาและสวนสาธารณะของเทศบาลฯ และเพื่อให้ทันในโอกาสมหามงคลของเราชาวไทยในปีหน้าต่อไป