16 เมษายน 2553

เศษซากจากโรงฆ่าสัตว์


เทจุลินทรีย์ช่วยย่อยก่อนกลบทับด้วยดิน





เศษซากจากการชำแหละที่มีอยู่ทุกคืน


ขุดหลุมเตรียมนำเศษซากมาฝังเพื่อให้ธรรมชาติช่วยย่อย


ที่โรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลฯ ที่อยู่ในบริเวณที่ดินของอาคารป้องกันฯ นั้น มองจากโรงเรือนแล้วก็พอจะบอกได้ว่า ได้สร้างขึ้นมาใช้งานมานาน อาจจะตั้งแต่สมัยสุขาภิบาลทางเกวียนก็เป็นได้ เพราะตัวโรงเรือนเป็นครึ่งอิฐครึ่งไม้ มีเตาพร้อมปล่องระบายควันอยู่สี่ชุดเพื่อใช้ต้มน้ำร้อนสำหรับลวกสุกรที่เืชือดแล้ว เพื่อขูดเอาขนออกจากผิวของมัน นอกจากนี้ ด้านหลังโรงฆ่าสัตว์นี้ ยังปรากฏมีเสาผูกวัวควายในอาคารด้านหลังที่อยู่ติดกัน แต่ปัจจุบันใช้เป็นที่หมักน้ำชีวภาพและเลี้ยงไส้เดือนแทนแล้ว
ที่โรงฆ่าสัตว์นี้ เดิมมีการฆ่าสุกรวันละราวสองถึงสามตัว แต่ช่วงต้นปีนี้ มีผู้ดำเนินการเป็นสองราย แต่ละคืนจะเชือดราวหกถึงสิบตัว นอกจากจะใช้ฟืนสำหรับต้มน้ำร้อนแล้ว ระยะหลังยังมีแก๊สชีวภาพและก้อนเชื้อเพลิงจากไขมันมาทดแทนอยู่ทุกคืน
การเชือดนี้ แต่ก่อนปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างคือ ขน มูลที่อยู่ในลำไส้ และเศษอวัยวะบางส่วน รวมถึงก้อนเลือด ฯ ลงไปในบ่อดินด้านหลัง ระยะหลังจึงให้มีการดักวัสดุข้างต้นด้วยถุงดำในเข่งแล้วนำไปขึ้นรถเพื่อไปหลุมฝังกลบอีกทีหนึ่ง คืน ๆ หนึ่งก็มีน้ำหนักของเศษซากวัสดุเหล่านี้ไม่น้อยกว่าสิบถึงยี่สิบกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับจำนวนสุกรที่เืชือด
เว้น ๆ ก็นึกเสียดายว่าไอ้เศษซากเหล่านี้มันเป็นของย่อยสลายได้ทั้งนั้น ที่ขนไปทิ้งเพราะไม่อยากให้บ่อตื้นเร็วและเป็นแหล่งส่งกลิ่น เพาะเชื้อโรค แล้วในที่สุดก็เลยเปลี่ยนวิธีใหม่ โดยใช้รถขุดหลุมเป็นล็อก ๆ และแทนที่จะเอาเศษซากจากการเชือดเหล่านี้ไปทิ้งที่หลุมฝังกลบ ก็เปลี่ยนมาเอาไปฝังดินไว้แทน เพื่อปรับปรุงสภาพดินให้มีธาตุอาหารเพิ่มขึ้น โดยใช้กระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติ หรือเมื่อฝังไว้สักระยะหนึ่ง ก็สามารถนำดินบริเวณที่ฝังนั้นไปใช้เป็นปุ๋ยได้อีกทอดหนึ่ง
ที่เปลี่ยนวิธีก็เพราะนึกถึงการไปทุ่งเพื่อปลดทุกข์ในท้องของคนแต่ก่อน เขาไม่ได้ไปมือเปล่า แต่เอาจอบหรือเสียมไปด้วย โดยขุดและกลบก่อนและหลังกระบวนการ และนึกถึงสวนผักสมัยก่อนที่ทราบว่านำมูลคนไปใช้เป็นปุ๋ยบำรุงดิน
แต่ตัวที่ต้องทำให้คิดและลงมือสำหรับงานนี้ กลับเป็นเพราะเห็นเจ้าเศษซากจากโรงเชือดเหล่านี้ เดือน ๆ หนึ่งมีน้ำหนักร่วมหนึ่งตัน ยิ่งปีนี้กดน้ำหนักขยะรวมทั้งเมืองไม่ค่อยยอมลงอยู่ด้วย เพราะเหตุได้ลดลงต่อเนื่องมาหลายปี หากไม่เอาเศษซากเหล่านี้ไปหลุม แต่เอามาฝังไว้ใกล้ ๆ แทน ก็จะช่วยเรื่องน้ำหนักขยะได้ไม่น้อยนั่นเอง

10 เมษายน 2553

กล่องนมฮะ กล่องน้ำผลไม้ฮะ...ยินดีต้อนรับฮะ...






ในวันที่ถุงพลาสติคได้มีการคัดแยกจากสายพานและจำหน่ายออกไปโดยไม่ได้ล้างทำความสะอาด ได้ผ่านมาระยะหนึ่งแล้ว ยังจำได้ว่า มีความพยายามที่จะหาช่องทางการนำเอากล่องนม กล่องน้ำผลไม้กลับไปใช้ใหม่อยู่ในใจเสมอ เพราะดูจากข้อมูลในเว้ปไซท์หลายแห่ง อาทิ ชมรมผู้ผลิตกล่องเครื่องดื่ม http://www.thaibcg.com/ เป็นต้น ก็ได้ความรู้ว่า ถ้านำไปฝังกลบจะย่อยยากมาก เพราะมีวัสดุซ้อนกันถึงหกเจ็ดชั้นเป็นเนื้อกล่อง แต่หากนำกลับไปใช้ใหม่ ก็มีกระบวนการที่สามารถนำไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ได้

ตรงนี้เองเมื่อแรกจึงได้ให้มีการคัดแยกกล่องนม กล่องน้ำผลไม้จากสายพาน โดยไม่ได้สนใจถึงความมีมูลค่า เพียงรู้แต่ว่ากว่าจะเป็นกล่องเหล่านี้ต้องมีกรรมวิธีมามาก ทำอย่างไรจึงจะนำกลับไปใช้ใหม่ให้คุ้มค่ากับการผลิต และเกิดประโยชน์สูงสุด

เมื่อได้คัดแยกแล้ว ก็เก็บสะสมแบบไม่มีอนาคตอยู่หลายเพลา อย่างน้อยก็พอใจแล้วว่าน่าจะมีโอกาสนำส่งชมรมอาสาสมัครรวบรวมกล่องนมให้ไปใช้ประโยชน์ได้ เหมือนกับที่เทศบาลฯ ได้ทำโครงการเก็บแยกคืนหลอดฟลูออเรสเซ้นท์มาหลายปี โดยนำหลอดนีออนชำรุดแล้วนำส่งบริษัทโตชิบากลับไปรีไซเคิลใหม่ ซึ่งแม้จะต้องเสียค่าขนส่งและไม่เกิดรายได้ใด ๆ ก็มีความสุขที่หลอดนีออนชำรุดจะไม่ถูกนำไปรวมปนไว้ในหลุมฝังกลบ

จำได้อีกว่า กล่องนมและกล่องน้ำผลไม้ที่คัดแยกออกมามีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และเปลืองที่เก็บมาก เคยมีคุณแก้วผู้มีใจรักสิ่งแวดล้อม ได้นำเอากล่องเหล่านี้ไปล้างทำความสะอาดก่อนเพื่อหมายจะนำส่งให้ชมรม แต่ที่สุดก็ได้นำส่งคืนเทศบาลฯ เพราะเกินกำลังของเธอ เทศบาลฯ เองก็เคยนำกล่องเหล่านี้ที่คัดแยกแล้วกลับไปฝังที่หลุมเพราะอับจนหนทางอยู่ครั้งหนึ่ง เพราะเกือบจะล้มเลิกความตั้งใจ

กระนั้นก็ดี ยังมีความพยายามที่จะไปให้ถึงชมรมฯ หรือผู้ประกอบการรีไซเคิลให้ได้ จนน้ำ เพ็ญวดีได้เจอข้อมูลเข้าในวันหนึ่ง หลังจากได้ถูกทวงถามความคืบหน้าแบบหน้าบึ้ง ๆ บ่อย ๆ แล้วก็ มีการเดินทางไปชมและรู้จักโรงงาน ซึ่งรวมความว่าพร้อมจะรับซื้อกล่องนมไปแปรรูปเป็นวัสดุต่าง ๆ ขณะที่ปัญหาการเปลืองที่เก็บก็ทำให้ต้องจมอยู่ในวังวนของการคิดจะสร้างแต่เครื่องอัดก้อนกล่องเหล่านี้อยู่ท่าเดียว ไปขอให้โรงกลึงทำเครื่อง ก็ออกมาคนละวัตถุประสงค์ ครั้นพอจะทำใหม่ ก็ทราบว่าราคาเหยียบแสน ต้องถอย และเป็นขณะเดียวกับที่เห็นภาพจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นว่าโรงเรียนชำนาญฯ มีเครื่องอัดก้อน ภายหลังทราบว่าลงทุนหมื่นกว่าบาท ทำให้เริ่มเห็นอนาคตแล้ว

แต่แล้วในที่สุด ความคิดแว้บเดียวก็บังเกิดขึ้นว่า ทำไมไม่ไปเช่าร้านรับซื้อของเก่าที่เขามีเครื่องใช้งานอยู่แล้วทำการอัดก้อน สุดท้ายจึงนำกล่องนมที่รวบรวมไว้ทั้งหมดเกือบสองเที่ยวรถหกล้อไปอัดก้อนได้สามก้อนน้ำหนักหนึ่งพันกับหกสิบกิโลกรัม ใช้เวลาหลายชั่วโมง มอบค่ากระแสไฟฟ้าและเครื่องอัดแก่ร้านไปห้าร้อยบาท และหมอเถียรกับตาจิ๋มสามารถนำส่งโรงงานที่บางพลีได้ในที่สุด ในราคากิโลกรัมละหกบาท

และอนาคตของการรวบรวมกล่องนมนั้น นอกจากจะได้จากสายพานคัดแยกขยะเช่นที่ผ่านมาแล้ว ยังจะได้แจ้งให้พนักงานประจำหลุมขยะได้คัดแยกอีกช่องทางหนึ่ง และจะประสานกับโรงเรียนระดับประถมทั้งอำเภอแกลง วังจันทร์ เขาชะเมาเพื่อให้มีการรวบรวมกล่องนมในโครงการอาหารเสริมของรัฐบาลมาจำหน่ายแก่เทศบาลฯ เพื่อนำเงินกลับไปพัฒนาโรงเรียนแทนการปล่อยทิ้งขว้างไปอย่างสูญเปล่า

เหล่านี้จึงเป็นเรื่องโอ้ละหนอของที่มา และโอ้ลัลล้าของกล่องนม กล่องน้ำผลไม้ที่กำลังจะก้าวต่อไปด้วยประการฉะนี้....เอย