13 ธันวาคม 2553

ลำนำเพลงแห่งสายพาน ลำเลียงงานเทศบาลได้ก้าวไป

บันไดสู่ดาว ไม่เอาขาหยั่งทำงานง่าย หลังคาทำจากกล่องนม
       ความใฝ่ฝันในช่วงสามสี่เดือนที่ผ่านมาสำหรับงานการคัดแยกขยะ นั่นก็คือ วันที่จะได้เห็นสายพานคัดแยกขยะเครื่องที่ ๒ ได้เดินเครื่อง ซึ่งก็สมใจนึกไปตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๓ วันรัฐธรรมนูญโดยบังเอิญเรียบร้อยแล้ว ใครใคร่แก้รัฐธรรมนูญก็แก้ไป แต่ว่าที่จริงประชาธิปไตยนี้ต้องรู้เรื่องหน้าที่พลเมืองเป็นสำคัญกว่าสิ่งใด
กว้างขึ้นทั้งรางลำเลียงและพื้นที่ทำงาน
       เหตุที่เดินเครื่องล่าช้าทั้งที่ทำเสร็จมาก็หลายเดือน เป็นเพราะตั้งใจจะรอให้มีการปรับปรุงสภาพพื้นที่ข้างเคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำรางระบายน้ำเพื่อมารองรับน้ำจากลานเครื่องคัดแยกขยะนี้ไปสู่บ่อเก็บน้ำเสีย ซึ่งต้องการจะใช้กระบวนการทางธรรมชาติเข้ามาช่วย กล่าวคือ ปล่อยให้น้ำเสียจากลานคัดแยกขยะที่ต้องล้างลานกันทุกวันได้ไหลผ่านรางพื้นดินที่ปลูกต้นไม้น้ำ อาทิ พุทธรักษา กก หรือธูปฤาษี เป็นระยะ ๆ ไปเพื่อได้คัดกรองเอาตะกอนของเสียและน้ำเสียได้ชะลอไว้ก่อนที่จะไหลไปลงบ่อ หากใช้วิธีการวางท่อระบายน้ำให้ไหลตรงลงบ่อ ก็ต้องตามไปแก้ปัญหาน้ำเน่าในบ่อไม่จบไม่สิ้น เป็นการแก้อย่างหนึ่งเพื่อไปสร้างปัญหาเพิ่มอีกอย่างหนึ่ง
       เครื่องสายพานคัดแยกขยะเครื่องที่สองนี้ ได้ออกแบบปรับปรุงจากเครื่องแรกดังนี้
๑ สร้างขึ้นใหม่ ไม่ดัดแปลงมาจากวัสดุมือสอง
๒ ความกว้างของรางมีขนาดกว้างกว่าเครื่องแรกคือ ประมาณ ๗๐ เซนติเมตร ช่วยเพิ่มพื้นที่ลำเลียงขยะได้มากขึ้นในเวลาที่เท่ากัน
๓ เปลี่ยนตัวสายพานเป็นชนิดวัสดุแบบยางรถยนต์ ช่วยการยึดเกาะให้กับวัสดุขยะได้ดีขึ้น
๔ ด้านปลายของสายพาน ยกมุมให้สูงขึ้นมากพอที่จะอยู่เหนือกว่าระดับความสูงของแซงรถยนต์ เพื่อไม่ต้องเกลี่ยขยะให้กองต่ำลงเวลาไหลลงรถจนกองสูงติดยอดสายพาน
๕ ตัวโม่เล่ย์ขับเคลื่อนสายพานใช้เป็นโซ่คล้ายโซ่รถจักรยานแทนชนิดยาง ทำให้มีแรงดึงมากขึ้น
๖ แกนโม่เล่ย์ยาวกว่าเดิม เพื่อมิให้เศษขยะไหลมาพันโม่เล่ย์จนทำให้ต้องหยุดเดินเครื่อง
๗ ลานกองขยะก่อนขึ้นสายพานได้รับการออกแบบให้มีระดับสูงจากพื้นดินและสูงกว่าจุดเริ่มต้นของสายพาน ช่วยให้ไม่ต้องโกยใส่เข่ง แล้วยกเข่งเทใส่สายพาน ทำให้ลดจำนวนคนยกเข่งลงได้ ๒ คนและลดการใช้กำลังของคนคาดขยะลง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ
๘ ข้างรางสายพาน มีการออกแบบชั้นยืนแบบขั้นบันใดและราวกันตก โดยไม่ต้องเพิ่มเสาตั้งกับพื้นให้เกะกะยุ่งยากในการทำความสะอาดเหมือนแบบเก่าที่เป็นแบบโต๊ะมีขา
๙ หลังคากันแดด กันฝน ถูกออกแบบให้มีระดับสูงโปร่งขึ้นกว่าเดิม เพิ่มความสะดวกในการทำงาน
รางระบายน้ำเสียที่จะใช้ระบบพฤกษาบำบัด
       จากการทำงานมาสองวัน พบว่าเวลาในการคัดแยกขยะลดลงจากเดิมที่ใช้เครื่องเก่า เพราะด้วยเหตุผลหลาย ๆ ข้อข้างต้น คือ สามารถคาดขยะขึ้นสายพานได้โดยไม่ต้องโกยใส่เข่ง และไปได้คราวละมากกว่าเดิม แต่สิ่งที่พึงระวังคือ เมื่อความกว้างของรางมากขึ้น อาจมีขยะที่ห่างมือแต่สามารถคัดแยกได้หลงหูหลงตาไปได้หากไม่เกลี่ยดูให้ดี นอกจากนี้ แซงข้างกันขยะหล่นออกนอกคอกต้องปรับปรุงให้สูงขึ้นกว่าเดิมอีกสักหนึ่งฟุต
       ในลำดับต่อไปจะได้เพิ่มจำนวนรถขยะจากเดิม ๒ เที่ยวรถหกล้อ กับอีก ๑ คันปิคอัพ เป็น ๓ เที่ยวรถหกล้อ กับอีก ๑ คันปิคอัพ และเตรียมจะหันกลับไปปรับปรุงสายพานคัดแยกขยะเครื่องเก่าให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้นอีกในทุก ๆ ส่วนที่ได้มีประสบการณ์มาแล้ว
ยกระดับพื้นกองขยะให้สูงขึ้น คาดขยะใส่สายพานได้ไม่ต้องโกยใส่เข่ง
       ต่อเมื่อสามารถนำเอาขยะของเทศบาลตำบลเมืองแกลงทั้ง ๕ คันรถหกล้อ และ ๑ เที่ยวรถปิคอัพมาขึ้นสายพานทั้งสองเครื่องเพื่อคัดแยกจนครบกระบวนการแล้ว และสามารถบริหารจัดการคนให้มีความเพียงพอและมีประสิทธิภาพขึ้นกว่าเดิมแล้ว ก้าวต่อไปจึงจะมุ่งตรงไปยังศูนย์ควบคุมคุณภาพมูลฝอย หรือหลุมฝังกลบขยะ ณ คลองไอ้วอง ของเทศบาลตำบลเมืองแกลงซึ่งที่นั่น ยังมีขยะจากท้องถิ่นอื่น ๆ ที่รอการคัดแยกอยู่อีกไม่น้อยกว่าวันละยี่สิบห้าตัน
ชีวิตที่ต้องไป..ต้องได้ดีกว่าเดิม
       งานการจัดการสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องของกระบวนการต่อยอดการเรียนรู้ ขบคิดไปอย่างยากจะจบสิ้น เมื่อครบสมบูรณ์ในระดับหนึ่ง ก็มีสมการที่รอให้ไปแก้อยู่อีกระดับหนึ่งฉะนี้แล 

11 ธันวาคม 2553

เกษตรเมือง..คือเกษตรกรรมที่ทำในเมือง

       อย่างไรเสีย...ก็คงจะป่วยการไปร้องแรกแหกกระเฌอเที่ยวหาที่ดินเป็นสิบไร่ร้อยไร่พันไร่เพื่อทำฟาร์มผัก และแม้ว่าหาได้มัีนก็ไม่ใช่ชีิวิตของคนที่อาศัยอยู่ในเมือง ถึงออกไปทำไร่ทำสวน มันก็คงไม่จีรัง ดั่งผู้มีฐานะ อยากมีบ้านพักชายทะเล เมื่อซื้อบ้านพักชายทะเลไว้แล้ว ก็เห่อแห่กันมาสักพักหนึ่ง นักเข้าเมื่อปลีกเวลาแหวกมาพักผ่อนไม่ค่อยได้ ด้วยใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่แต่ในเมือง ก็ร้างลาบ้านพักชายทะเลกันไปเสียโดยมาก

แปลงผักหน้าสำนักงานเทศบาลฯ
       ฉันใดก็ฉันนั้น งานการต่าง ๆ แม้แต่เรื่องการทำเกษตรในเมือง หากจัดแจงได้ไม่ลงตัวต่อการดำเนินชีวิตประจำวันแล้วไซร้ ก็คงไม่สู้ได้ประโยชน์อะไร

       เรื่องแนวคิดที่จะส่งเสริมให้ประชาชนในเมืองแกลงหันกลับมานึกถึงและลงมือทำสวนอาหารหลังบ้านเหมือนแต่ก่อนที่รอบบ้านหลังบ้านมีพืชอาหารกันเต็มไปหมดนั้น หากไม่ลงมือทำนำร่องไปก่อนแล้ว ก็คงป่วยการ ด้วยลำพังเอาแต่กู่ก้องร้องตะโกนให้มาอบรม ๆ ๆ และอบรม โดยไม่ทำอาการ "ปฏิบัติบูชา" นั้นมันจะเข้ากับยุคสมัยเกินไป เหตุดังกล่าว เทศบาลตำบลเมืองแกลง จึงอาศัยที่อยู่สองสถาน คือรอบเสาธงหน้าสำนักงานเทศบาล และดาดฟ้าอาคารป้องกันฯ ลงมือทำเพื่อชู ให้ดูแล้วเห็นเป็นประจักษ์ ว่า เพียงความใส่ใจ ใส่เข้าไปใ้ห้ดินและน้ำเท่านั้น พืชอาหารอันหลากหลายก็เกิดขึ้นให้เราไว้บริโภคกันได้


ใบเตย ผักหวาน กระเพราะ ชะพลูในกระถาง
       หลักง่าย ๆ ที่ควรพิจารณาก่อนลงมือทำเกษตรเมือง คือ
       ทำอะไรที่มันง่าย ๆ เอาแต่พอตัวพอกำลังของตน สอดคล้องกับกิจวัตรประจำวัน และเป็นไปได้เสียก่อนเป็นเบื้องต้น
       อย่าไปหวังผลผลิตว่าจะออกมาเป็นบิ๊กล็อต แต่ไปเรื่อย ๆ ดั่งน้ำซึมบ่อทราย
       อยากกินอะไร ใคร่ครวญว่าเป็นไปได้ ก็ปลูกอย่างนั้น
       พิจารณาสิ่งรอบตัวว่ามีอะไรที่พอจะใช้ในการปลูกได้บ้างก่อนลงทุนซื้อ ๆ ๆ
       มองหาที่ที่ดูเหมือนจะไม่มีที่ว่าง ให้มีที่ว่าง แต่หากหาที่ว่างไม่ได้จริง ๆ ก็ปลูกมันในภาชนะอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องใช้ที่เปลือง
       ดูทางแดดทางลม ดูชนิดต้นไม้ที่จะปลูกไว้บ้าง เพราะมันขึ้นอยู่กับดิน น้ำ ลมฟ้าอากาศ เช่นดอกทานตะวันทำไมหันรับแสงอยู่ตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ

       ข้อพินิจต่อไปคือ เกษตรเมืองที่หมายถึงเกษตรกรรมที่ทำแต่ในเมืองนั้น ทำแล้วได้อะไร เมื่อได้ลงมือทำก็จะพบว่า เมื่อเราใฝ่ใจ ก็จะได้ความสุขใจ ได้พืชผักที่ปลอดภัยไว้รับประทาน ได้รู้คุณค่าความเป็นมนุษย์ที่สามารถดำเินินชีวิตได้ด้วยการเพาะปลูก

       ตั้งหลักให้ดี มองกระบวนการด้วยความพึงพอใจทั้งมรรคและผล เพื่อสิ่งที่เขาบอกว่า ปลูกพืชผลแล้วไม่มีกำไร จะไม่มีวันย่างกรายมาใกล้เราอย่างแน่นอน

      
      
      
      

รถขสมก.ขยายพื้นที่บริการครอบคลุม ๑๑ จาก ๑๓ ชุมชนแล้ว

เส้นทางจากแหลมยาง ไปในยาง โพธิ์ทองมุ่งสู่สนามกีฬาฯ รอบเย็น
       ต่อการเพิ่มขึ้นของรถขสมก. อีกสองคัน ซึ่งได้เพิ่มบริการรับส่งเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดสารนาถธรรมารามที่มีบ้านเรือนอยู่ทั้งฝั่งทิศเหนือและทิศใต้ถนนสุขุมวิทไปแล้ว เมื่อเปิดภาคเรียนที่สองได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ โดยนักเรียนฝั่งโรงเรียนวัดสารนาถฯ มีจำนวนมากที่ใช้บริการรถขสมก. จึงต้องเพิ่มการรับและส่งในช่วงเช้าและเย็นจากเดิมหนึ่งเที่ยวเป็นสองเที่ยว ขณะนี้ทุกอย่างเข้าระบบเรียบร้อยเหมาะสม

สายหนองควายเขาหัก พลงช้างเผือก หนองกระโดงขากลับจากสนามกีฬาฯ
       จึงได้พิจารณาการนำรถขสมก.สองคันใหม่นี้ออกให้บริการประชาชนไปสนามกีฬาฯ เฉพาะแต่ในช่วงเย็น เนื่องจากช่วงเช้า ได้ประเมินร่วมกับชุมชนว่าจะมีผู้โดยสารน้อย สำหรับในช่วงเย็นนั้น ได้ถือเอาวันที่ ๖ ธันวาที่ผ่านมาเป็นวันนัดหมายเริ่มเปิดบริการในสองสายหลัก คือ สายด้านทิศเหนือถนนสุขุมวิท ตามเส้นทางรับส่งนักเรียนวัดสารนาถฯ แต่เลยไปสนามกีฬาฯ สายหนึ่ง กับการนำรถขสมก. คันเดิมขยายเส้นทางไปหนองควายเขาหัก พลงช้างเผือก และหนองกระโดงแล้ววิ่งไปตามเส้นทางเดิมสู่สนามกีฬาอีกสายหนึ่ง ซึ่งสายหลังนี้ เป็นคำแนะนำในที่ประชุมอสม.ของเทศบาล จนทำให้ต้องกลับมาคิพิจารณาและเปิดบริการได้ในที่สุด

ขสมก.คันเดิมแต่ขยายพื้นที่บริการอีกสามชุมชน
       ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งคือ จากชุมชนบ้านแหลมยาง ลัดเลาะไปชุมชนในยางและชุมชนโพธิ์ทองทั้งย่านถนนโพธิ์ทอง - ฝั่งธน และย่านปากซอยดอนเค็ด เลี้ยวเข้าซอยบนเนินมุ่งสู่สนามกีฬา

เด็ก ๆ และผู้ใหญ่สบายใจ ไปสนามกีฬาฯ
       ทำให้การเพิ่มขึ้นของรถขสมก.สองคันใหม่นี้ สามารถครอบคลุมการให้บริการไปถึงทั้งชุมชน หนองแตงโม มาบใหญ่ สารนาถ โพธิ์ทอง หนองแหวน (บางส่วน) ในฝั่งด้านทิศเหนือถนนสุขุมวิท และครอบคลุมชุมชนแหลมยาง ในยาง โพธิ์ทอง(ด้านทิศใต้)  นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงเส้นทางของรถขสมก.คันเดิมให้ไปบริการถึงชุมชนหนองควายเขาหัก พลงช้างเผือก หนองกระโดง จากเดิมที่มีบริการแต่ชุมชนสุนทรโวหาร แกลงแกล้วกล้า

       จึงยังคงเหลือพื้นที่ที่บริการรถขสมก.ยังไปไม่ถึงคือ ชุมชนดอนมะกอก และหนองแหวน(บางส่วน) เนื่องจากเป็นชุมชนที่ต้องเดินทางด้วยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓ (ถนนสุขุมวิท) และถนนบ้านบึง แกลง ซึ่งรถยนต์ทางไกลค่อนข้างทำความเร็วสูง และชุมชนอาจมีจำนวนประชากรไม่มากนัก แต่กระนั้นก็ดี ในอนาคตก็อาจนำมาพิจารณาขยายบริการรถขสมก.ได้ต่อไป

       สิ่งที่ต้องกำหนดไว้ในใจคือ ทำอย่างไรจึงจะจัดสวัสดิการสู่ประชาชนได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับความตระหนักถึงการสร้างวินัยในการใช้รถร่วมบริการอย่างรถขสมก. (ขนส่งเมืองแกลง) นี้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สภาพภูมิอากาศในเมืองแกลง แทนการมุ่งใช้แต่ยานยนต์ส่วนต้ัว

09 ธันวาคม 2553

ขยายเขตปลอดถังขยะที่อีกถนนสองสายหลัก (โพธิ์ทองและแหลมยาง)

ถนนโพธิ์ทองและถนนแหลมยางที่ปลอดถังขยะ
       ก่อนถึงวันที่ ๕ ธันวาคมที่ผ่านมานี้ ได้รู้โดยตลอดมาว่าพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระชนมายุครบ ๘๓ พรรษา และปีหน้าจะทรงมีพระชนมายุครบ ๗ รอบ รัฐบาลคงจะเตรียมจัดงาน ทำโครงการอันหลากหลายในปีหน้าอย่างแน่นอน

บริเวณกองขยะที่หมักหมมเดิมได้รับการปรับปรุงและยกเลิกถังขยะแล้ว
       ในโอกาสวันพ่อปีนี้ ได้วางแผนร่วมมือกับชาวบ้านโดยได้ทำเขตปลอดถังขยะเพิ่มขึ้นบนถนนสายหลักอีกสองสายในพื้นที่ชุมชนโพธิ์ทอง และชุมชนแหลมยาง ด้วยถนนโพธิ์ทองนั้น มีการจราจรเดินทางค่อนข้างหนาแน่น เพราะมีบ้านเรือนประชาชนอยู่จำนวนมาก ส่วนถนนแหลมยางนั้น แต่เดิมรถขยะก็เข้าไปบริการชนิดวันเว้นวัน เพราะบ้านเรือนน้อย แต่เป็นเส้นทางไปสู่แพท่องเที่ยวที่มีผู้คนต่างถิ่นแวะเวียนมาเป็นประจำ

       เขตปลอดถึงขยะทั้งสองโซนนี้ ได้เริ่มเก็บถังขยะขึ้นมาแต่วันที่ ๔ หลังจากได้ตัดหญ้าข้่างทางและเก็บขยะตกค้่างเรียบร้อยแล้ว คาดว่าปัญหาถังขยะมอมแมม และจุดตั้งถังขยะมีขยะตกค้่างตลอดเวลาคงจะหมดไป ขณะนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้น และรอการประเมิน
       
ภูมิทัศน์หัวถนนแหลมยางหลังจากยกเลิกถังขยะแล้ว
      


 ถามว่า...เทศบาลกับชาวบ้านร่วมกันทำเขตปลอดถังขยะแล้วได้อะไร...
ภูมิืทัศน์สองฝั่งทางก่อนถึงแยกเข้าสวนสุขภาพ
         ตอบเบื้องต้นว่า ได้ถนนหรือทางเท้าที่ไม่ต้องมีถังขยะ ไม่ดูมอมแมมสกปรก ไม่มีกลิ่นเหม็น เพิ่มความเรียบร้อยสวยงามให้ถนนและทางเท้า และมากยิ่งไปกว่านั้นคือ ปริมาณขยะจากบ้านเรือนจะลดลงโดยอัตโนมัติ จากแทนที่เคยทิ้งกันได้สารพัด เพราะถังขยะเทศบาลบรรจุขยะได้มาก ต้องเปลี่ยนมาเป็นหาภาชนะใส่เองในแต่ละบ้าน ถุงพลาสติคบ้าง ถังหรือกระป๋องบ้าง จึงขยะชิ้นใดที่ขายได้ก็จะถูกแยกออกมาโดยอัตโนมัติเพื่อไม่ต้องเปลืองเนื้อที่ถุงหรือถังขยะของบ้านที่มีขนาดเล็ก และเมื่อลดการใช้ถังขยะแล้ว เทศบาลก็ยังประหยัดงบประมาณในการซื้อถังลงกว่าแต่เดิมเป็นเงินจำนวนมาก

06 ธันวาคม 2553

ข้าวจากนา ณ เมืองแกลง

       เรื่องข้าว ๆ นี่ เอาเข้าจริง ดูจะยังไม่ควรจบเพียงแค่การส่งเสริมชาวเมืองแกลงให้กลับมาปลูกเพียงแค่นั้นเสียแล้ว...
       เพราะว่าที่จริง ยังมีเรื่องให้ต้องคิดต่อและทำต่อสำหรับเรื่องข้าว อาหารหลักที่เราต้องทานวันละสามเวลากันไปตลอดชีวิต อย่างน้อยข้อที่ควรคิดสงสัยนั่นคือข้าวที่เราทานอยู่นั้น

มาจากโรงสีไหน
มาจากดินและน้ำจังหวัดไหนกัน
เขาปลูกกันแบบไหน
เป็นข้าวพันธุ์อะไร ไหนล่ะ..ข้าวพันธุ์ท้องถิ่นของเรา
ข้าวที่ปลูกในบ้านเรา ส่งไปสีไปขายกันที่ไหน
ความที่เป็นข้าวกล้อง และข้าวสารต่างกันตรงไหน ฯ

       ควบคู่ไปกับเรื่องราวต่าง ๆ ประเด็นข่าวเรื่องข้าวจากอดีตถึงปัจจุบันที่เคยได้ยินและควรใส่ใจ อาทิ คณะกรรมการข้าว การแทรกแซงราคาข้าว การรับจำนำข้าวเปลือก การลงทุนกิจการปลูกข้าวของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ การเปลี่ยนที่นาเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งหรือรีสอร์ทในบางพื้นที่ ประเทศตะวันออกกลางเข้ามาหาพื้นที่ทำนาในบ้านเรา เวียดนามปลูกข้าวส่งออกแย่งกันเป็นอันดับ ๑ กับไทย ฯ

       เมื่อย้อนกลับมาที่เมืองแกลง แต่เดิมมา เคยปรากฏในเอกสารของทางอำเภอแกลงว่า สินค้าส่งออกที่สำคัญของเมืองแกลงชนิดหนึ่ง คือ ข้าว ซึ่งมีปลูกกันทั่วไปในย่านตำบลทางเกวียน ตำบลบ้านนา ตำบลทุ่งควายกิน ทุ่งเนินทราย เนินฆ้อ ชากกะโดน บ้านนาซา บ้านคลองปูน พังราด ช้างข้าม พื้นที่ทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนมีมือคลองไหลทอดตัวอยู่ทั่วไป ทำให้ระบบน้ำสำหรับปลูกข้าวเป็นไปด้วยดี

       แต่เมื่อธุรกิจการเลี้ยงกุ้งเริ่มมีบทบาทและมีผลกำไรงาม ชาวนาก็หันไปปรับพื้นที่หรือขายที่เพื่อเลี้ยงกุ้ง อาชีพทำนาจึงลดลงอย่างรวดเร็ว กระทั่งบางพื้นที่ก็ปล่อยให้ที่นาเป็นที่รกร้างว่างเปล่ามาหลายสิบปี โรงสีข้าวก็พลอยซบเซาปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก คงเหลือแต่โรงสีขนาดย่อมที่ชาวนาเอาข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวสารเก็บไว้พอกินเป็นเดือน ๆ ไป

       แล้วข้าวที่เรากินอยู่นั้น ขนมาจากไหน...

       เส้นทางการขนส่งข้าวมาบ้านเรา มาจากทั้งทางระยอง และแปดริ้ว รวมถึงหลายจังหวัดในภาคอีสาน ก็ด้วยความที่เขามีโรงสีขนาดใหญ่ และรับซื้อข้าวเปลือกไปทั่ว ไม่เฉพาะเอาแต่ข้าวเปลือกที่ปลูกจากดินในพื้นที่ของตนเท่านั้น นี่คือการดำเนินงานที่เอาธุรกิจและผลกำไรเป็นตัวนำ

       ย้อนกลับมาที่เมืองแกลงอีกครั้ง ซึ่งในที่สุดเมื่อเข้าฤดูเกี่ยวข้าวปีนี้แล้ว ก็ได้ตัดสินใจที่จะค้าข้าวด้วยอีกทางหนึ่ง โดยมีเป้าหมายคือ ความต้องการที่จะส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวในพื้นที่กันให้มากขึ้น แต่หากยังคงใช้วิธีเดิมคือ ตั้งโครงการแล้วหาหนทางสนับสนุนเมล็ดข้าวหรือปุ๋ย ก็จะทำได้จำกัดแต่ในวงเขตพื้นที่ ไปไม่ได้ไกลและเหมือนจะใช้งบประมาณไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงหันมาใช้วิธีไปซื้อข้าวกล้องจากโรงสีในพื้นที่อยู่สองโรง ที่วังหินโรงหนึ่ง และที่เนินยางอีกโรงหนึ่ง รวมถึงไปซื้อข้าวเปลือกตรงจากชาวนาด้วย เพื่อต้องการให้เป็นข่าว ให้ได้รู้ว่าวันนี้เทศบาลสนับสนุนให้ข้าวมีทางไป มีทางระบาย และในอีกทางหนึ่ง ทุนที่ใช้ในการดำิเนินงาน ทั้งสำหรับการหมุนเวียนซื้อขาย การซื้อข้าวเปลือกมาสต็อกไว้ ก็ใช้วิธีระดมทุน ตั้งเป็นหุ้นข้าว หุ้นละหนึ่งร้อยบาท สมาชิกสามารถซื้อได้ไม่เกินคนละสิบหุ้น ซึ่งเปิดรับสมัครจากประชาชนทั่วไปตามชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนรู้จักเรื่องของการออม การรู้จักดำเนินธุรกิจแบบกลุ่ม การมีรายได้จากเงินปันผล โดยมาถึงขณะนี้มีสมาชิกร่วมหนึ่งร้อยราย และยังคงเปิดรับสมัครอยู่

       ทั้งนี้ ข้าวกล้องหรือข้าวสารตรา "ข้าวแกลง" ที่ผลิตออกจำหน่าย มีข้อกำหนดว่าต้องเป็นข้าวที่ปลูกจากดินและน้ำในเมืองแกลงเท่านั้น เพื่อลดปัญหาการเดินทางขนส่งอาหารจากเมืองอื่นอันจะช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง

       ข้าวตรา "ข้าวแกลง" จึงเป็นอีกหนึ่งน้ำพักน้ำแรงทั้งจากชาวนาและชาวเราธรรมดา ๆ ในพื้นที่ภาคภูมิใจที่ได้ช่วยกันทำมาค้าขาย สร้า่งเสริมรายได้ของผู้คนในพื้นที่ ที่สามารถพูดได้ชัด ๆ ว่า หากต้องการมีดินน้ำและสิ่งแวดล้อมที่ดี ผู้คนต้องมีหนทางที่จะสร้า่งรายได้ให้เกิดขึ้นได้ด้วย จึงจะเกิดความยั่งยืน

    

20 กันยายน 2553

เล่าเรื่องรถขสมก. (ขนส่งเมืองแกลง)

       ในโอกาสที่รถขนส่งเมืองแกลง หรือ ขสมก. หรือที่ชาวบ้านเรียกกันสั้น ๆ ติดปากว่า  "รถราง" อีกจำนวน ๒ คันจะมาถึงภายในสิ้นเดือนกันยายน ๒๕๕๓ นี้ หลังจากที่ ๒ คันแรกได้เปิดวิ่งบริการมาตั้งแต่ราวเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๕๒ ในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่าน และจาการที่เพิ่งจะผ่านพ้นช่วงเวลาที่ต้องใช้ไปกับการคัดเลือกรูปภาพจำนวนมากมายอยู่เกือบสองสัปดาห์ รวมถึงเมื่อได้คัดเลือกรูปเพื่อจะเอาไปประดับรถรางแล้ว จะต้องนำมาปรุงให้สวยงาม และลงตัวเหมาะสมจนแล้วเสร็จ และรู้สึกเหมือนได้ผ่านงานหนัก ๆ มาอีกชิ้นหนึ่ง จึงคิดว่าควรจะได้บันทึกที่มาและเรื่องราวไว้เป็นเชื้อสืบต่อไป

       แต่เดิมเมื่อราวปี พ.ศ.๒๕๔๖ ได้มีโอกาสไปที่เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกาโดยมีสถาบันคีนันแห่งเอเชียให้การสนับสนุน คนที่เคยไปย่อมรู้ว่า ที่นั่นเขามีสิ่งอันควรจดจำอยู่อย่างน้อยก็สองอย่างคือ สะพานโกลเด้น เกท และรถรางประจำเมือง ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองนี้ โดยเฉพาะอย่างหลัง เป็นอะไรที่ผู้คนส่วนใหญ่ของซานฟรานซิสโกได้ใช้ในการเดินทางเป็นกิจวัตร และบริการสำหรับนักท่องเที่ยว

       ครั้นเมื่อภายหลังได้เข้าร่วมมาตรการรณรงค์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และเชื่อมโยงไปยังสถาบัน ICLEI (www.iclei.org) แล้ว มาตรการหนึ่งคือการจัดการกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากยานยนต์ในการเดินทาง และนี้เองที่เป็นเหตุผลของการกำเนิดรถราง ขสมก.ขึ้นเพื่อลดการใช้ยานยนต์ส่วนตัว และเพื่อเป็นสวัสดิการสำหรับประชาชนชาวเมืองแกลง

       อย่างไรก็ดี เมื่อแรกที่จะมีรถรางประจำเมืองแกลงนั้น ก็ยังมิวายอดคิดถึงอัตลักษณ์ความงดงามของรถรางไฟฟ้าที่ซานฟรานซิสโกไปเสียไม่ได้ แต่ที่นั่นเขาพัฒนามานานมากแล้ว จึงเห็นการตกแต่งรูปทรงของรถอย่างมีเอกลักษณ์ ที่สุดแล้ว รถขสมก.สองคันแรกของเมืองแกลงที่ตัวถังทำจากเหล็ก และไม่อาจจะใช้วัสดุอื่นใดในภาวะขณะนั้นได้ จึงถูกกำหนดให้แสดงภาพการเดินทางของชาวเมืองแกลงในอดีตไว้กับตัวถังของรถ ทั้งการเดินทางโดยสัตว์พาหนะอย่างม้า เรือ รถโดยสารประจำทาง และแสดงภาพความเป็นอยู่ของชาวเมืองแกลงในอดีต สำหรับโอกาสครบ ๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่าน

       รถขสมก.สองคันแรกได้ออกวิ่งให้บริการโดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ซึ่งได้กำหนดต้นทางปลายทางเพื่อที่จะพาคนจากบ้านเรือนไปที่สนามกีฬาและสวนสาธารณะ และเพื่อรับส่งนักเรียนไปกลับโรงเรียน รวมถึงในโอกาสสำคัญ ๆ อาทิ งานเทศกาลต่าง ๆ หรือให้บริการผู้มาทัศนะศึกษาดูงานในพื้นที่ ทั้งนี้ ได้กำหนดให้วิ่งเฉพาะพื้นที่ด้านทิศใต้ของถนนสุขุมวิท เนื่องจากรถขสมก.ยังมีเพียง ๒ คัน อยู่ในระยะเริ่มต้น ไม่ควรเสี่ยงข้ามถนนสุขุมวิทโดยไม่จำเป็น และด้วยความลงตัวในเรื่องของตารางเวลาในการเดินรถ

       และก่อนที่จะมีคันที่ ๓ และ ๔ นั้น ได้มีการวางเส้นทางเดินรถสำหรับพื้นที่ด้านทิศเหนือถนนสุขุมวิท และมีการนำรถสองคันแรกไปทดลองวิ่ง ทำให้ต้องมีการปรับลดขนาดความยาวของรถลงเล็กน้อยเพื่อสามารถลดความกว้างของวงเลี้ยวให้สะดวกยิ่งขึ้น

       ในท้ัศนะส่วนตัว ยังคงให้น้ำหนักความยากของเรื่องนี้ตรงที่ว่า เราจะออกแบบภาพด้านหน้า ด้านหลังและด้านข้างตัวถังรถให้งดงามได้อย่างไร เพื่อให้เป็นอัตลักษณ์หนึ่งสำหรับรถรางของเมืองแกลง เพื่อให้รู้จักความเป็นเมืองแกลงมากยิ่งขึ้น และเพื่อบอกเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ในพ.ศ.๒๕๕๓ นี้ได้อีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะถูกเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จะถูกถ่ายเป็นภาพและจะอยู่กับเมืองแกลงไปอีกนาน

       แน่ล่ะ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์สุนทรภู่ สร้างขยายขนาดจากแบบจำลองขนาดความสูง ๔๐ เซ็นติเมตรของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีขึ้น ณ สนามกีฬาและสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พระพรรษาในวันที่ ๑๓ มีนาคม ภาพพิธีการในวันดังกล่าว

       และภาพของสุนทรภู่ในวัยหนุ่มที่แตกต่างจากสุนทรภู่ทีอนุสาวรีย์ตำบลกร่ำ เพื่อจะบอกว่าสุนทรภู่มาเยือนเมืองแกลงขณะมีอายุได้เพียง ๒๐ ปีได้ถูกปรุงและนำไปติดไว้ที่รถราง ขสมก. คันที่ ๓

       ส่วนด้านข้างด้านหนึ่ง เป็นภาพการแสดงบนเวทีในงานบุญกลางบ้านปีนี้ ซึ่งได้เลือกเฟ้นภาพของนักแสดงที่กำลังสร้างความสุขแก่ผู้ชมผ่านทางสีหน้า ท่วงท่าอันระคนความสุขไว้ด้วยเช่นกัน

       อีกด้านหนึ่ง เป็นกลุ่มภาพที่แสดงสีสันบรรยากาศงานบุญกลางบ้านใน ๓ พื้นที่ด้วยกัน คือที่ถนนสุนทรโวหาร ที่ซอยศรีประชุมชล (ซอยศาลาต้นโพธิ์) และในแพนั่งชมการแสดงกลางน้ำ (Floating stage) ที่กองช่างทำไว้ทุกปี ภาพความเคลื่อนไหวเหล่านี้เปรียบปานไปก็เหมือนเป็นอวัยวะสำคัญของนายบุญกลางบ้านที่มีอายุล่วงเลยมาแล้วถึง ๖ ปี

       เมื่อกล่าวถึงรถราง ขสมก. คันที่ ๔ ภาพขบวนเรือที่แห่จากด้านทิศใต้ของเมืองขึ้นไปจากศาลาต้นโพธิ์พร้อมต้นผ้าป่าบนหัวเรือเพื่อไปร่วมพิธีเปิดอนุสาวรีย์สุนทรภู่เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ปีนี้ ณ สนามกีฬาฯ เทศบาลซึ่งอยู่ในย่าน "บ้านดอนเค็ด" ซึ่งสุนทรภู่เคยมาเยือนเมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๙ เป็นภาพขณะผ่านบริเวณโรงเืลื่อยเก่าที่อยู่ตรงข้ามกับตรอกขี้หมู และไปไกล ๆ เห็นสะพาน ๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่าน แสงเงา องค์ประกอบของภาพนี้งดงามชนิดที่ไม่ต้องตัดสินใจเพราะมีตัวเลือกอื่นใด ๆ เลย สรุปได้ง่ายมากว่าต้องเป็นภาพนี้

       ส่วนด้านหลัง เป็นภาพต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ อายุมากปลายตรอกขี้หมูที่ผู้คนไม่สู้จะผ่านตาเหมือนต้นโพธิ์ที่ศาลาต้นโพธิ์ มีการนำภาพสะพาน ๑๐๐ ปีฯ มาปรุงไว้ และภาพหมู่ของเด็ก ๆ ที่ช่วยกันให้กำลังใจ ลุ้นเอาใจช่วยเพื่อน ๆ ให้เหยียบหลัง เหยียบไหล่ ไต่เสาไม้ไผ่ขึ้นไปดึงแบ็งค์ที่ผูกไว้ที่ปลายยอด มีความงดงามตามธรรมชาติของเด็ก และแสดงถึงสภาพน้ำในแม่น้ำประแสที่หลายปีมานี้ สามารถจะโดดลงไปเล่นได้

       ภาพด้านข้างรถคันที่ ๔ นี้ เป็นการตอบโจทย์ว่า หากเรานึกถึงเมืองแกลง อะไรที่เราเคยเห็นกันบ่อย ๆ สำหรับผู้คนในหลาย ๆ รุ่นวัย นั่นก็คือ อาคารโรงพักเก่าที่กำหนดให้ก่อสร้างใหม่ตามขนาดรูปทรงเดิมเพื่อจะมาเป็นหอประวัติเมืองกลง และสะพาน ๑๐๐ ปี บ้านตลาดสามย่านที่เราใช้ข้ามคลองประแสกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันมาแต่อดีต โดยภาพด้านข้างนี้ ได้นำเอาภาพทั้งสองบริเวณในอดีตปี พ.ศ.๒๔๖๖ มาผสมให้ได้เปรียบเทียบและบอกเล่าถึงความคุ้นเคยมาเนิ่นนานของสถานทั้ง ๒ แห่งนี้ โดยมีภาพเทวดาและนางฟ้า พร้อมขบวนกลองยาวแสดงถึงความรุ่งเรืองปิติมาเพิ่มสีสัน

       ภาพอีกด้านหนึ่งที่เหลือ คือภาพที่แสดงถึงกลุ่มบ้านเรือนในพื้นที่ที่เคยรุ่งเรืองมาแต่อดีต คือบ้านบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอแกลงหลังเก่า ตั้งแต่ปากตรอกขี้หมู ไปจนถึงทางลงไปสะพาน ๑๐๐ ปีฯ บ้านด้านซ้ายเป็นภาพบ้านเก่าที่ยืนยาวมาจนปัจจุบัน ส่วนภาพเก่าโทนสีหม่นนั้น ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตไปมากพอสมควร แต่ก็ยังพอเหลือบ้านเก่าให้เห็นเป็นเค้าให้พอได้ชื่นใจอยู่บ้าง และเพื่อเป็นจุดสนใจ จึงได้ดึงเอาภาพนางรำที่ยิ้มแย้มและมีการแสดงออกถึงท่าทางการร่ายรำที่สมส่วน โดยเฉพาะนางรำด้านซ้าย พร้อมตัวโขนมาเป็นองค์ประกอบ

       การเลือกภาพจากฐานข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้เป็นพัน ๆ ภาพจึงปรากฏออกมาที่ดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ด้วยความทุกข์ใจเรื่องเวลาที่จำกัด ด้วยความยากในการเลือกสรร การค้นหาแก่นของเรื่องเพื่อประมวลให้เป็นภาพเดียว และการลงมือปรุงภาพให้งามของผู้ทำ ให้สมกับความพยายามของผู้ถ่าย เมื่อเสร็จแล้วก็โล่งใจ เพราะรถขสมก.นี้เป็นสมบัติของชาวเมืองแกลงทั้งเมืองที่จะใช้ร่วมกันไปอีกนาน หากคิดใช้ประโยชน์เพียงแค่สำหรับเดินทางไปมา ก็คงได้ประโยชน์เพียงส่วนเดียว

       คุณค่าของขสมก.นี้จึงควรแสดงถึงอัตลักษณ์ของเมืองเพื่อให้รถขสมก.นี้ได้วิ่งตีกระดิ่ง แก๊งค์ ๆ แก๊งค์ ๆ ให้ผู้คนได้รู้สึกรัก ผูกพันและภาคภูมิใจในการอยู่เมืองแกลงอยู่ทุก ๆ วัน  
      

    


 

01 สิงหาคม 2553

เกษตรเมือง...เมืองเกษตร

อย่ากลับบ้านมือเปล่า..รบแพ้ก็ขนข้าวขนเสบียงกลับพม่าไปด้วย
       พม่าอยากได้กรุงศรีอยุธยาเป็นนักหนา...เพราะอยุธยาและเมืองบริวารเป็น "อู่ข้าวอู่น้ำ" และหลายครั้งที่พม่าต้องยกทัพกลับเพราะน้ำเหนือหลากท่วมทุ่ง
    
มีสักกี่ภูมิภาคบนโลกใบนี้ที่ปลูกข้าวได้สบาย
       แขกตะวันออกกลางอาหรับเข้ามาจับจองพื้นที่ทำนาเมืองไทย เพราะบ้านเขามีแต่ทะเลทราย ทั้งที่ร่ำรวยจากน้ำมันมหาศาล แต่น้ำมันและเงินทองกินไม่ได้ ต่อให้รวยแต่ไม่มีอาหารที่ต้องพึ่งพาจากประเทศอื่นให้จับจ่าย จะมีชีวิตอยู่ยังไง

ดินฟ้าอากาศชวนให้ยึดไทยเป็นอาณานิคม
       ไม่นับรวมยุคล่าอาณานิคมของชาวตะวันตกในช่วงรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ เมื่อกว่าร้อยปีที่ผ่านมา เพราะประเทศแถบเส้นศูนย์สูตรในทวีปเอเชียอย่างบ้านเราและประเทศเพื่อนบ้านนี้ มีความอุดมสมบูรณ์พูนพร้อมไปเสียหมด ทั้งป่าไม้ แร่ธาตุ พืชภัณฑ์ธัญญาหาร ที่จะทำให้มนุษย์คนหนึ่งหรือคนทั้งประเทศจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงจากแหล่งดิน แหล่งน้ำ สภาพภูมิประเทศที่เือื้อต่อการผลิตอาหาร

การพัฒนาที่รุกขยายกินพื้นที่เพาะปลูก
       มาวันนี้ เมื่อประชากรของเราเพิ่มมากขึ้น สภาพความเป็นเมืองที่วุ่นวายสับสนไปด้วยผู้คน บ้านช่อง รถรา การทำมาค้าขาย ฯ ก็ขยายตัวกว้างออกไป ไปทำลายพื้นที่ที่เคยเพาะปลูก เคยทำเกษตร เคยเป็นแหล่งผลิตอาหารทั้งข้าว พืชผัก ผลไม้ หมูเห็ดเป็ดไก่ กุ้งหอยปูปลาไว้เลี้ยงดูเรา

คนแกลงกินผัก...จากที่ไหน ?
       เมื่อสักยี่สิบปีก่อน ยังได้ยินได้รู้ว่า เขาปลูกผักกันมากที่ตลิ่งชัน รังสิต ปทุมธานี นนทบุรี มาบัดนี้บริเวณที่ว่ากลายเป็นตลาดค้าส่งพืชผักผลไม้ไปแล้ว โดยหมดสภาพการเป็นพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกผลิตอาหาร และต่อ ๆ ไป เมืองก็จะขยายวงไปไล่ที่เพาะปลูกทำกินออกไปอีกเรื่อย ๆ

       การพัฒนาเมืองจึงเป็นอันตรายหากไม่ยั้งคิดและไปทำลายแหล่งอาหารของตัวเองเสียหมด

       เมื่อสภาพพื้นที่ถูกเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ไปเป็นเมือง สภาพสังคม การใช้ชีวิตก็เปลี่ยนไปตาม จากที่เคยมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารจากดินและน้ำ ก็กลายเป็นการสร้างความก้าวหน้าใ้ห้ชีวิตโดยคิดไปเป็นมนุษย์เงินเดือน จากที่เคยมีที่ทางหลังบ้านสำหรับปลูกพืชผักสวนครัวกันไว้บ้าง ก็เปลี่ยนมาเป็นการใช้ชีวิตที่ต้องหาเงินมาเพื่อ "ซื้อ" ทุกอย่าง โดยผลิตข้าวปลาอาหารกินเองไม่เป็นเหมือนเดิมเสียแล้ว

เป้าใหญ่คือการลงทุน..คนจึงต้องไหลเข้าโรงงานและ
รัฐเองไม่ให้ค่ากับการสร้างงานที่เหมาะกับ
สภาพแวดล้อมของประเทศ
       คุณค่าพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ว่าที่จริงน่าจะอยู่ตรงแค่เพียงรู้จักหาน้ำ หาอาหาร ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์มาสำหรับประทังชีวิตเท่านั้น หากเราทำอะไรต่าง ๆ ได้มากมาย แต่ทำพื้นฐานตรงนี้ไม่ได้ ฤาจะเป็นการดูถูกตัวเราเองเกินไปหน่อยหรือเปล่า

       ถ้าคนในเมืองมุ่งแต่การเป็นผู้ซื้อ โดยผลิตเองไม่เป็น เมืองก็เป็นเมืองที่ต้องพึ่งพาอาหารจากแหล่งอื่นไปโดยปริยาย

        แล้วเมื่อใดที่เขาไม่มีอาหารมาขายให้ หรือเพราะเขาผลิตไม่ได้ หรือเกิดจากปัญหากลไกการตลาด หรือเราเองหาเงินไปซื้อไม่ได้ เราจะอยู่กันอย่างไร

       เรามุ่งแต่ส่งเสริมการสร้างงาน สร้างโครงการ สร้างรายได้ แต่โครงการที่สร้างนั้น หากเราหวังเพียงเม็ดเงินรายได้ แต่ไปขัดกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศที่ตั้ง พื้นที่ที่เหมาะแก่การเป็นแหล่งเพาะปลูกอย่างประเทศไทยก็จะถูกทำลายอยู่ตลอดเวลา

จะเหลือสักกี่คนที่มีทุนรอนลงทุนระบบฟาร์มปิดได้แบบนี้
       เราส่งเสริมการสร้่างพื้นที่ให้เป็น "นิคมอุตสาหกรรม" แต่เราไม่เคยใส่ใจกับการลงทุนด้านชลประทานว่าได้ทำไปแล้วเท่าไร และถูกใช้อย่างคุ้มค่าหรือไม่ และเราไม่เคยได้ยินคำว่า "นิคมเกษตรกรรม"

       เช่นเดียวกัน เราไล่ทุบ "เมืองไทยใหญ่อุดม ดินดีสมเป็นนาสวน..." ออกไป แล้วไล่ต้อนคนจำนวนมากป้อนโรงงาน

       การพัฒนาเมืองในวันนี้ จึงต้องเร่งกอบกู้กระบวนทัศน์ และวิธีคิดต่อการพัฒนาโดยตรึงความเหมาะสมของชัยภูมิพื้นที่เป็นตัวตั้ง เอาธรรมชาติเป็นตัวยาตราการพัฒนาเืมือง เป็นตัวของตัวเอง

       ที่แกลง...
หนทางเดียวที่เราจะอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของพืชภัณฑ์ธัญญาหารต่อไปได้
หนทางเดียวที่จะทำให้คนรายได้น้อยหรือแทบไม่มีรายได้จะสามารถอยู่ต่อไปได้
หนทางเดียวที่จะทำให้ผู้มีฐานะอยู่ได้อย่างมั่นคง
ก็ด้วยการพยายามไม่่เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดินทำเกษตร ทำไร่นาสวนไปเป็นอย่างอื่น
ไม่ระวังให้ดี ลองกองอาจเป็นเพียงตำนาน
ก็ด้วยการพยายามตรึงและรักษาแหล่งน้ำ คูคลองหนองบึงให้มีสภาพเหมาะแก่การอุปโภคบริโภคและการทำเกษตร
    
       ในเมืองแกลงเอง....ซึ่งมีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นสภาพเมือง เป็นบ้านเรือนร้านค้าและห้องหับ
น้ำและป่าชายเลนที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน
บ้านพึ่งพาตนเองได้ เมืองก็จะพึ่งพาตนเองได้
แม้จะต้องจับจ่ายหาซื้อของกินไปหลายส่วนแล้วก็ตาม ก็ต้องนึกย้อนอดีตในวันที่เรามีสวนหลังบ้านไว้ให้คอยเก็บโน่นนี่มาทำกินเอาไว้  แล้วลงมือปลูกตรงหลังบ้าน ที่ระเบียง ที่ดาดฟ้า หรือที่รั้วบ้าน ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมผู้ที่ทำเกษตรในเมืองกันไว้ต่อไปให้มีหน้าที่คอยผลิตพืชผักผลไม้ไว้จับจ่ายซื้อขายกันเองในพื้นที่ พัฒนาระบบการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ให้ก้าวหน้าเลี้ยงตัวได้ เพื่อไม่ต้องเอาปากท้องไปผูกไว้แต่เฉพาะผู้ผลิตขนาดใหญ่ในระบบฟาร์มปิด และไม่ต้องพาตัวเองไปตกอยู่ในสภาพลูกจ้าง รับจ้างเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ให้บริษัท ผู้มีที่ทางมากสักหน่อย ก็อย่าปล่อยไว้เปล่า เอามาทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ที่เคยเป็นความถนัดของชาวเรามาแต่ไหนแต่ไร รวมถึงเทศบาลและหน่วยงานผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องขับเคลื่อนเพื่อจะรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและ้น้ำเอาไว้เป็นต้นทุนสำคัญสำหรับเมือง
  
       น้ำ และอาหารวันนี้เป็นเรื่องใหญ่ และจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญขึ้นเรื่อย ๆ เพราะคนมากขึ้น แหล่งน้ำแหล่งเพาะปลูกลดลง

       และถ้ามีใครมาบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความ "เชย"  ก็จงย้อนกลับไปว่า เขาผู้นั้น ก็กินความเชยอยู่วันละสามมื้อทุกเมื่อเชื่อวันนั่นเอง

  

 

25 กรกฎาคม 2553

"เพราะเหตุ" ...ที่ต้อง "เพาะเห็ด"....

       เดือนที่ผ่านมา ใช้เวลาส่วนหนึ่งไปสาละวนอยู่กับเรื่อง "เห็ด" ตั้งแต่การให้เจ้าหน้าที่และชาวบ้านผู้สนใจไปรับการอบรมการเพาะเห็ดเพื่อที่จะได้เรียนรู้พร้อม ๆ กันไป ได้ทำโรงเพาะเห็ด จากโครงไม้สนที่เหลือจากงานบุญกลางบ้าน และตับจาก จากริมคลองประแส ของยายปลูกบ้านดอนมะกอก ได้ซื้อก้อนเชื้อเห็ดสำเร็จรูปมาห้าร้อยก้อน ๆ ละเจ็ดบาท เพื่อทดลองศึกษาเพื่อให้รู้จากการลงมือ เห็ดที่เพาะเป็นเห็ดนางฟ้า มีออกมาไม่มากที่จะขาย แต่ก็พอได้เป็นข่าวว่าเทศบาลฯ ทำเห็ดขึ้นมาได้บ้าง

       ล่าสุด ได้ทำระบบเตานึ่งฆ่าเชื้อในก้อนเห็ดและห้องนึ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป้าหมายคืออาศัยแก๊สชีวภาพจากที่ผลิตขึ้นเอง โดยให้มีขนาดของเตาและห้องนึ่งที่บ้านหรือครัวเรือนสักหลังหนึ่งจะสามารถทำได้ในแบบเดียวกันแล้วไปขยายเอาข้างหน้า  ต่างจากระบบแก๊สชีวภาพที่เริ่มทำจากระบบใหญ่ก่อน เพราะใช้ในโรงฆ่าสัตว์ จึงยังมีการบ้านต่อไปว่าจะทำแก๊สชีวภาพใช้ในขนาดครัวเรือนต่อไปกันได้อย่างไร

       ความคุ้มค่าของการเพาะเห็ดอยู่ระหว่างการเก็บสถิติรวบรวมข้อมูล และได้เรียนรู้ร่วมกันกับลุงเกิด คล้ายคลึงแห่งบ้านหนองควายเขาหัก ผู้มากสามารถเรื่องการเพาะเห็ดจากทลายปาล์มแยกผลแล้ว และจากขี้เลื่อยไม้ยางพารา แต่เรื่องสำคัญของเทศบาลฯ คือ หากจะให้ได้คะแนนเต็มร้อย จะต้องสามารถนำเอาขี้เลื่อยไม้ยางพารามาคลุกกับวัสดุอื่นตามส่วนผสม แล้วสามารถผลิตเป็นก้อนเชื้อเห็ดเองได้ เช่นเดียวกับที่ไปซื้อก้อนเห็ดเขามาเพาะ เพื่อไปให้ถึงต้นทางต้นน้ำ จึงจะตอบโจทย์ได้อย่างถูำกต้องและสมบูรณ์

       แล้ว "เพราะเหตุ" ใด ทำไมต้อง "เพาะเห็ด"....

       เมืองแกลงมีโรงงานอบไม้และแปรรูปไม้ยางพาราไปเป็นผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์อยู่มากกว่าจังหวัดอื่นใดของประเทศ กระบวนการเลื่อยเพื่อแปรรูปไม้ยางตรงนี้ ทำให้เกิดขี้เลื่อยไม้ยางพาราอยู่มากมายและทุกวัน (เหมือนของเสียที่ไม่เสียของซึ่งเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน) เป็นวัตถุดิบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ นอกจากสามารถนำขี้เลื่อยเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมเช่น การทำปาร์ติเกิ้ลบอร์ด การทำธูป การทำยาจุดกันยุง หรือในงานฝีมือประดิษฐ์จากขี้เลื่อยแล้ว ได้เคยเห็นรถบรรทุกต่อพ่วงทะเบียนต่างจังหวัดมาจากภาคเหนือ ภาคอีสานมาโกยขี้เลื่อยกลับไปเป็นเที่ยวรถ ๆ อยู่เป็นประจำ เมื่อสอบถามดูจึงทราบว่า เขามาขนขี้เลื่อยกลับไปทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงนำไปเพาะเห็ด แล้วก็ขนเห็ดกลับมาขายเราอีกที


       โธ่...โถ...นี่แหละหนา ที่โบราณว่า "หญ้าปากคอก" "ใกล้เกลือกินด่าง" "เส้นผมบังภูเขา" นั้นนำมาเปรียบเปรยอุปมากับเรื่องขี้เลื่อยกับเห็ดนี้ได้เป็นอย่างดีแท้เชียว เพราะเรามีของดีอยู่ใกล้ ๆ มือแท้ ๆ ยังปล่อยให้คนอื่นเขาวิ่งรถมาเป็นร้อย ๆ กิโลนำกลับไปสร้างรายได้แบบง่าย ๆ กันได้

       ถ้าคนเมืองแกลงบ้านเราเข้าใจและรู้จักใช้วัตถุดิบที่มีอยู่มหาศาลมาใช้เพื่อการผลิตอาหาร เพื่อเปลี่ยนสถานะจากต้องพึ่งพาอาหารจากพื้นที่อื่น มาเป็นผลิตอาหารเพื่อพึ่งพาตนเอง และให้พื้นที่อื่นต้องพึ่งพา เราก็จะมีความมั่นคงเรื่องความเป็นแหล่งอาหารของเมือง (Food stability) ลดการเดินทางของอาหาร (Food Transportation) การได้รับประทานอาหารสดสะอาด (Fresh Food , Food Safety)  เรื่องรายได้ในชีวิตความเป็นอยู่ (Income from Waste) เรื่องสิ่งแวดล้อมที่นำของเสียอย่างขี้เลื่อยกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ในรูปใช้เป็นวัตถุดิบในการเพาะเห็ด (Benefit from City's Raw Material) 

       "เพราะเหตุ" นี้แหละนา...เราจึงต้องหันมา "เพาะเห็ด" กัน

05 กรกฎาคม 2553

เมืองแกลง...ทำไมต้องข้้าว?

       ทำไม?........
       คำถามเดียวว่า "ทำไม?" นี่แหละที่ทำให้ทุกอย่างเคลื่อนที่ต่อไป
       แต่ในที่นี้ ในฤดูฝนนี้ ขอถามว่า "ทำไมต้องทำนา?" หรือ "ทำไม เมืองแกลงต้องกลับไปทำนา?"
       
       แต่ก่อนพอฝนมา ก็มักคิดถึงการทำนาเป็นเรื่องแรก และก็รู้ต่อไปว่า ฝนตกไปสักพัก พอข้าวเริ่มตั้งท้อง ก็จะถึงฤดูเข้าพรรษากันแล้ว เพื่อพระสงฆ์ท่านได้จำวัด ไม่ต้องออกมาเดินบิณฑบาตเหยียบต้นข้าวชาวบ้านให้เสียหาย

       วันนี้...ที่แกลงบ้านเรา แม้จะหยุดทำนากันไปนานมาก และหยุดกันไปมาก แต่ก็ได้หันกลับมาทำนากันมากขึ้นอีกครั้ง โดยทุกคนต่างก็รู้ว่า การกลับมาทำนา จะไม่มีคำว่า "สายเกินไป"

       "ทำไม?"
        @ ก็เพราะคนต้องกินข้าวกันมาแต่เกิด วันละสามมื้อ 
        @ ไม่ทำนาแล้วต่อไปจะเอาข้าวที่ไหนกิน ต่อให้มีเงิน สักวันอาจไม่มีข้าวให้ซื้อก็ได้
       @ กินข้าวกันมาแต่อ้อนแต่ออก ไม่คิดจะลองไปปลูกข้าวกันบ้างหรือ ซื้อกินอย่างเดียว มันจะดูถูกความสามาถของตัวเราเองเกินไปสักหน่อยหรือเปล่า?

        @ บ้านเราต้องปลูกข้าว เพราะภูมินามประจำถิ่นที่ปู่ยาตาทวดท่านตั้งไว้ ก็บอกลายแทงขุมทรัพย์ให้แล้วไงว่า "บ้านนา ทางเกวียน ทุ่งควายกิน หนองควายเขาหัก นาซา แป (ล) งลาด (พังราด) นายายอาม..."  มันหมายถึงบริเวณพื้นที่เหล่านี้เหมาะที่จะทำนา หรือแม้แต่คำว่า "ทุ่ง" "พลง"(พื้นที่ที่มีน้ำขัง) "หนอง" ที่กระจายเรียกบริเวณต่าง ๆ อยู่ทั่วหย่อมย่าน ก็บอกสภาพของพื้นที่ได้ว่าเป็นแบบใด
  
        แล้วเหตุใด จึงต้องเหนื่อยไปทำอะไรที่ฝืนและไม่สอดคล้องกับธรณีสัณฐานของเืมืองของธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในบ้านเราด้วยเล่า?

        @ ถ้าไม่ส่งเสริมให้กลับมาทำนากันใหม่ หากเปลี่ยนที่นาไปเป็นบ่อกุ้งกันเสียหมด จะเหลือเจ้าของที่อยู่สักกี่ราย
        @ ที่นา...เฝ้าด้วย "หุ่นไล่กา"  แต่นากุ้ง เฝ้าด้วย "ลูกปืน"
        @ ทำนา ได้อะไรที่มากกว่า "เมล็ดข้าว" ทั้งความร่วมมือสาม้คคี (การลงแขก) การติดแรง การใช้แรง ประเพณีวัฒนธรรมการปลูกข้าว ฯ

        @ เมืองที่จะอยู่อย่าง "เสถียร" ต้องจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นแหล่งเพา่ะปลูกข้าวเป็นของตนเองอยู่ในพื้นที่เมือง เพื่อพึ่งพาตนเองได้ หรือพึ่งพาอาหารจากที่อื่น ๆ เท่าที่ำจำเป็น 
        ดูสิ...พม่ามันอยากได้กรุงศรีอยุธยาเพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะอยุธยาเป็นเมือง "อู่ข้าวอู่น้ำ" 
        เดี๋ยวนี้ พวกแขกอาหรับเศรษฐีบ่อน้ำมัน มันเข้ามากว้านซื้อที่นาเพื่อปลูกข้าวแล้วส่งกลับไป เพราะน้ำมันนั้น กินไม่ได้ ต่อให้รวยล้นฟ้า ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีข้าวให้ซื้อได้ตลอดไป...เห็นไหม ๆ 

        @ ตัวการสามอันดับแรกที่เผาผลาญพลังงาน ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างปัญหาโลกร้อน คือ การผลิตกระแสไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง และอุตสาหกรรม แล้วเหตุใดต้องให้รถเผาผลาญนั้ำมันเชื้อเพลิงหรือแก๊สเพื่อบรรทุกข้าวมาแต่ไกล ๆ ทั้ง ๆ ที่ปลูกได้ในพื้นที่ ไม่ต้องขายแพง เพราะไม่มีค่าขนส่ง

        หากที่นาไม่ถูกปล่อยร้่าง แต่มีรายได้เกิดขึ้นจากดิน... จากการทำนา การซื้อขายเปลี่ยนมือเจ้าของที่นาจะเกิดขึ้นน้อย การพัฒนาที่ดินหรือการใช้ประโยชน์ในที่ดินไปเป็นอย่างอื่นก็จะมีจำนวนไม่มากตามไปด้วย ที่นาจะคงความเป็นแหล่งอาหาร ไม่เปลี่ยนเป็น "เมือง" ที่จะมีปัญหาวุ่นวายยุ่งเหยิงตามมา

        นอกจากข้าว ที่เมื่อปลูกจนเหลือกิน จะเก็บไว้ได้โดยไม่เน่าเสีย ไม่ต้องแช่แข็งเปลืองไฟเหมือนกุ้งแช่แข็งแล้ว ไม่มีสักส่วนเดียวของต้นข้าวที่ไม่สามารถจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ จึงเป็นที่มาของ "ชาวบ้านกินข้าว เทศบาลกินแกลบ" เพื่อนำแกลบไปซ้บแห้งดินและเป็นส่วนผสมของปุ๋ยเพื่อไปบำรุงดินให้เป็นที่ผลิตอาหารเลี้ยงเราได้ต่อไป


         @ เมืองศิวิไลซ์ เมืองที่พัฒนา เมืองที่มีความเจริญรุ่งเรือง...คืออะไร
         ...คือเมืองที่มีตึกรามมากมาย มีรถราวุ่นวาย ต้องใช้เงินเพื่อการยังชีพเพียงอย่างเดียวเท่านั้นหรือ?
         ...คือเมืองที่ต้องไล่ที่นา ไล่วัวไล่ควายออกไปอยู่ไกล ๆ เพื่อให้ดูดี เอาแค่นั้นหรือ?
         ...คือเมืองที่คนฐานใหญ่ผู้มีรายได้น้อยจะต้องอยู่ใช้แรงแลกค่าจ้างอย่างลำบากเช่นนั้นหรือ?
         ...คือเมืองที่คนผู้ไม่มีตังค์ในกระเป๋า ต้องหมดสิทธิ์อยู่ หรือจะเจริญรุ่งเรืองโดยสร้างเมืองให้ผู้คนสามารถจะ "ลงแปลงมีผัก ลงคลองมีปลา ลงนามีข้าว" 


         "เมืองน่าอยู่" ต่อแต่นี้ จะไม่คงไว้แค่ "เมืองอยู่ดี..." แต่เท่านั้น อีกต่อไป หากแต่จะต้องเป็น "เมืองอยู่ดี กินดี ผู้คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน"

        เหล่านี้ จึงเป็นเรื่องราวที่บอกเล่าให้กับคำถามที่ว่า "เมืองแกลง...ทำไมต้องข้าว?"
ปล.ไปก่อนนะ...ท้องร้อง...หิวข้าวอีกแล้ว