06 ธันวาคม 2553

ข้าวจากนา ณ เมืองแกลง

       เรื่องข้าว ๆ นี่ เอาเข้าจริง ดูจะยังไม่ควรจบเพียงแค่การส่งเสริมชาวเมืองแกลงให้กลับมาปลูกเพียงแค่นั้นเสียแล้ว...
       เพราะว่าที่จริง ยังมีเรื่องให้ต้องคิดต่อและทำต่อสำหรับเรื่องข้าว อาหารหลักที่เราต้องทานวันละสามเวลากันไปตลอดชีวิต อย่างน้อยข้อที่ควรคิดสงสัยนั่นคือข้าวที่เราทานอยู่นั้น

มาจากโรงสีไหน
มาจากดินและน้ำจังหวัดไหนกัน
เขาปลูกกันแบบไหน
เป็นข้าวพันธุ์อะไร ไหนล่ะ..ข้าวพันธุ์ท้องถิ่นของเรา
ข้าวที่ปลูกในบ้านเรา ส่งไปสีไปขายกันที่ไหน
ความที่เป็นข้าวกล้อง และข้าวสารต่างกันตรงไหน ฯ

       ควบคู่ไปกับเรื่องราวต่าง ๆ ประเด็นข่าวเรื่องข้าวจากอดีตถึงปัจจุบันที่เคยได้ยินและควรใส่ใจ อาทิ คณะกรรมการข้าว การแทรกแซงราคาข้าว การรับจำนำข้าวเปลือก การลงทุนกิจการปลูกข้าวของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ การเปลี่ยนที่นาเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งหรือรีสอร์ทในบางพื้นที่ ประเทศตะวันออกกลางเข้ามาหาพื้นที่ทำนาในบ้านเรา เวียดนามปลูกข้าวส่งออกแย่งกันเป็นอันดับ ๑ กับไทย ฯ

       เมื่อย้อนกลับมาที่เมืองแกลง แต่เดิมมา เคยปรากฏในเอกสารของทางอำเภอแกลงว่า สินค้าส่งออกที่สำคัญของเมืองแกลงชนิดหนึ่ง คือ ข้าว ซึ่งมีปลูกกันทั่วไปในย่านตำบลทางเกวียน ตำบลบ้านนา ตำบลทุ่งควายกิน ทุ่งเนินทราย เนินฆ้อ ชากกะโดน บ้านนาซา บ้านคลองปูน พังราด ช้างข้าม พื้นที่ทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนมีมือคลองไหลทอดตัวอยู่ทั่วไป ทำให้ระบบน้ำสำหรับปลูกข้าวเป็นไปด้วยดี

       แต่เมื่อธุรกิจการเลี้ยงกุ้งเริ่มมีบทบาทและมีผลกำไรงาม ชาวนาก็หันไปปรับพื้นที่หรือขายที่เพื่อเลี้ยงกุ้ง อาชีพทำนาจึงลดลงอย่างรวดเร็ว กระทั่งบางพื้นที่ก็ปล่อยให้ที่นาเป็นที่รกร้างว่างเปล่ามาหลายสิบปี โรงสีข้าวก็พลอยซบเซาปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก คงเหลือแต่โรงสีขนาดย่อมที่ชาวนาเอาข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวสารเก็บไว้พอกินเป็นเดือน ๆ ไป

       แล้วข้าวที่เรากินอยู่นั้น ขนมาจากไหน...

       เส้นทางการขนส่งข้าวมาบ้านเรา มาจากทั้งทางระยอง และแปดริ้ว รวมถึงหลายจังหวัดในภาคอีสาน ก็ด้วยความที่เขามีโรงสีขนาดใหญ่ และรับซื้อข้าวเปลือกไปทั่ว ไม่เฉพาะเอาแต่ข้าวเปลือกที่ปลูกจากดินในพื้นที่ของตนเท่านั้น นี่คือการดำเนินงานที่เอาธุรกิจและผลกำไรเป็นตัวนำ

       ย้อนกลับมาที่เมืองแกลงอีกครั้ง ซึ่งในที่สุดเมื่อเข้าฤดูเกี่ยวข้าวปีนี้แล้ว ก็ได้ตัดสินใจที่จะค้าข้าวด้วยอีกทางหนึ่ง โดยมีเป้าหมายคือ ความต้องการที่จะส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวในพื้นที่กันให้มากขึ้น แต่หากยังคงใช้วิธีเดิมคือ ตั้งโครงการแล้วหาหนทางสนับสนุนเมล็ดข้าวหรือปุ๋ย ก็จะทำได้จำกัดแต่ในวงเขตพื้นที่ ไปไม่ได้ไกลและเหมือนจะใช้งบประมาณไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงหันมาใช้วิธีไปซื้อข้าวกล้องจากโรงสีในพื้นที่อยู่สองโรง ที่วังหินโรงหนึ่ง และที่เนินยางอีกโรงหนึ่ง รวมถึงไปซื้อข้าวเปลือกตรงจากชาวนาด้วย เพื่อต้องการให้เป็นข่าว ให้ได้รู้ว่าวันนี้เทศบาลสนับสนุนให้ข้าวมีทางไป มีทางระบาย และในอีกทางหนึ่ง ทุนที่ใช้ในการดำิเนินงาน ทั้งสำหรับการหมุนเวียนซื้อขาย การซื้อข้าวเปลือกมาสต็อกไว้ ก็ใช้วิธีระดมทุน ตั้งเป็นหุ้นข้าว หุ้นละหนึ่งร้อยบาท สมาชิกสามารถซื้อได้ไม่เกินคนละสิบหุ้น ซึ่งเปิดรับสมัครจากประชาชนทั่วไปตามชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนรู้จักเรื่องของการออม การรู้จักดำเนินธุรกิจแบบกลุ่ม การมีรายได้จากเงินปันผล โดยมาถึงขณะนี้มีสมาชิกร่วมหนึ่งร้อยราย และยังคงเปิดรับสมัครอยู่

       ทั้งนี้ ข้าวกล้องหรือข้าวสารตรา "ข้าวแกลง" ที่ผลิตออกจำหน่าย มีข้อกำหนดว่าต้องเป็นข้าวที่ปลูกจากดินและน้ำในเมืองแกลงเท่านั้น เพื่อลดปัญหาการเดินทางขนส่งอาหารจากเมืองอื่นอันจะช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง

       ข้าวตรา "ข้าวแกลง" จึงเป็นอีกหนึ่งน้ำพักน้ำแรงทั้งจากชาวนาและชาวเราธรรมดา ๆ ในพื้นที่ภาคภูมิใจที่ได้ช่วยกันทำมาค้าขาย สร้า่งเสริมรายได้ของผู้คนในพื้นที่ ที่สามารถพูดได้ชัด ๆ ว่า หากต้องการมีดินน้ำและสิ่งแวดล้อมที่ดี ผู้คนต้องมีหนทางที่จะสร้า่งรายได้ให้เกิดขึ้นได้ด้วย จึงจะเกิดความยั่งยืน

    

ไม่มีความคิดเห็น: