05 กรกฎาคม 2553

เมืองแกลง...ทำไมต้องข้้าว?

       ทำไม?........
       คำถามเดียวว่า "ทำไม?" นี่แหละที่ทำให้ทุกอย่างเคลื่อนที่ต่อไป
       แต่ในที่นี้ ในฤดูฝนนี้ ขอถามว่า "ทำไมต้องทำนา?" หรือ "ทำไม เมืองแกลงต้องกลับไปทำนา?"
       
       แต่ก่อนพอฝนมา ก็มักคิดถึงการทำนาเป็นเรื่องแรก และก็รู้ต่อไปว่า ฝนตกไปสักพัก พอข้าวเริ่มตั้งท้อง ก็จะถึงฤดูเข้าพรรษากันแล้ว เพื่อพระสงฆ์ท่านได้จำวัด ไม่ต้องออกมาเดินบิณฑบาตเหยียบต้นข้าวชาวบ้านให้เสียหาย

       วันนี้...ที่แกลงบ้านเรา แม้จะหยุดทำนากันไปนานมาก และหยุดกันไปมาก แต่ก็ได้หันกลับมาทำนากันมากขึ้นอีกครั้ง โดยทุกคนต่างก็รู้ว่า การกลับมาทำนา จะไม่มีคำว่า "สายเกินไป"

       "ทำไม?"
        @ ก็เพราะคนต้องกินข้าวกันมาแต่เกิด วันละสามมื้อ 
        @ ไม่ทำนาแล้วต่อไปจะเอาข้าวที่ไหนกิน ต่อให้มีเงิน สักวันอาจไม่มีข้าวให้ซื้อก็ได้
       @ กินข้าวกันมาแต่อ้อนแต่ออก ไม่คิดจะลองไปปลูกข้าวกันบ้างหรือ ซื้อกินอย่างเดียว มันจะดูถูกความสามาถของตัวเราเองเกินไปสักหน่อยหรือเปล่า?

        @ บ้านเราต้องปลูกข้าว เพราะภูมินามประจำถิ่นที่ปู่ยาตาทวดท่านตั้งไว้ ก็บอกลายแทงขุมทรัพย์ให้แล้วไงว่า "บ้านนา ทางเกวียน ทุ่งควายกิน หนองควายเขาหัก นาซา แป (ล) งลาด (พังราด) นายายอาม..."  มันหมายถึงบริเวณพื้นที่เหล่านี้เหมาะที่จะทำนา หรือแม้แต่คำว่า "ทุ่ง" "พลง"(พื้นที่ที่มีน้ำขัง) "หนอง" ที่กระจายเรียกบริเวณต่าง ๆ อยู่ทั่วหย่อมย่าน ก็บอกสภาพของพื้นที่ได้ว่าเป็นแบบใด
  
        แล้วเหตุใด จึงต้องเหนื่อยไปทำอะไรที่ฝืนและไม่สอดคล้องกับธรณีสัณฐานของเืมืองของธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในบ้านเราด้วยเล่า?

        @ ถ้าไม่ส่งเสริมให้กลับมาทำนากันใหม่ หากเปลี่ยนที่นาไปเป็นบ่อกุ้งกันเสียหมด จะเหลือเจ้าของที่อยู่สักกี่ราย
        @ ที่นา...เฝ้าด้วย "หุ่นไล่กา"  แต่นากุ้ง เฝ้าด้วย "ลูกปืน"
        @ ทำนา ได้อะไรที่มากกว่า "เมล็ดข้าว" ทั้งความร่วมมือสาม้คคี (การลงแขก) การติดแรง การใช้แรง ประเพณีวัฒนธรรมการปลูกข้าว ฯ

        @ เมืองที่จะอยู่อย่าง "เสถียร" ต้องจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นแหล่งเพา่ะปลูกข้าวเป็นของตนเองอยู่ในพื้นที่เมือง เพื่อพึ่งพาตนเองได้ หรือพึ่งพาอาหารจากที่อื่น ๆ เท่าที่ำจำเป็น 
        ดูสิ...พม่ามันอยากได้กรุงศรีอยุธยาเพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะอยุธยาเป็นเมือง "อู่ข้าวอู่น้ำ" 
        เดี๋ยวนี้ พวกแขกอาหรับเศรษฐีบ่อน้ำมัน มันเข้ามากว้านซื้อที่นาเพื่อปลูกข้าวแล้วส่งกลับไป เพราะน้ำมันนั้น กินไม่ได้ ต่อให้รวยล้นฟ้า ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีข้าวให้ซื้อได้ตลอดไป...เห็นไหม ๆ 

        @ ตัวการสามอันดับแรกที่เผาผลาญพลังงาน ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างปัญหาโลกร้อน คือ การผลิตกระแสไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง และอุตสาหกรรม แล้วเหตุใดต้องให้รถเผาผลาญนั้ำมันเชื้อเพลิงหรือแก๊สเพื่อบรรทุกข้าวมาแต่ไกล ๆ ทั้ง ๆ ที่ปลูกได้ในพื้นที่ ไม่ต้องขายแพง เพราะไม่มีค่าขนส่ง

        หากที่นาไม่ถูกปล่อยร้่าง แต่มีรายได้เกิดขึ้นจากดิน... จากการทำนา การซื้อขายเปลี่ยนมือเจ้าของที่นาจะเกิดขึ้นน้อย การพัฒนาที่ดินหรือการใช้ประโยชน์ในที่ดินไปเป็นอย่างอื่นก็จะมีจำนวนไม่มากตามไปด้วย ที่นาจะคงความเป็นแหล่งอาหาร ไม่เปลี่ยนเป็น "เมือง" ที่จะมีปัญหาวุ่นวายยุ่งเหยิงตามมา

        นอกจากข้าว ที่เมื่อปลูกจนเหลือกิน จะเก็บไว้ได้โดยไม่เน่าเสีย ไม่ต้องแช่แข็งเปลืองไฟเหมือนกุ้งแช่แข็งแล้ว ไม่มีสักส่วนเดียวของต้นข้าวที่ไม่สามารถจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ จึงเป็นที่มาของ "ชาวบ้านกินข้าว เทศบาลกินแกลบ" เพื่อนำแกลบไปซ้บแห้งดินและเป็นส่วนผสมของปุ๋ยเพื่อไปบำรุงดินให้เป็นที่ผลิตอาหารเลี้ยงเราได้ต่อไป


         @ เมืองศิวิไลซ์ เมืองที่พัฒนา เมืองที่มีความเจริญรุ่งเรือง...คืออะไร
         ...คือเมืองที่มีตึกรามมากมาย มีรถราวุ่นวาย ต้องใช้เงินเพื่อการยังชีพเพียงอย่างเดียวเท่านั้นหรือ?
         ...คือเมืองที่ต้องไล่ที่นา ไล่วัวไล่ควายออกไปอยู่ไกล ๆ เพื่อให้ดูดี เอาแค่นั้นหรือ?
         ...คือเมืองที่คนฐานใหญ่ผู้มีรายได้น้อยจะต้องอยู่ใช้แรงแลกค่าจ้างอย่างลำบากเช่นนั้นหรือ?
         ...คือเมืองที่คนผู้ไม่มีตังค์ในกระเป๋า ต้องหมดสิทธิ์อยู่ หรือจะเจริญรุ่งเรืองโดยสร้างเมืองให้ผู้คนสามารถจะ "ลงแปลงมีผัก ลงคลองมีปลา ลงนามีข้าว" 


         "เมืองน่าอยู่" ต่อแต่นี้ จะไม่คงไว้แค่ "เมืองอยู่ดี..." แต่เท่านั้น อีกต่อไป หากแต่จะต้องเป็น "เมืองอยู่ดี กินดี ผู้คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน"

        เหล่านี้ จึงเป็นเรื่องราวที่บอกเล่าให้กับคำถามที่ว่า "เมืองแกลง...ทำไมต้องข้าว?"
ปล.ไปก่อนนะ...ท้องร้อง...หิวข้าวอีกแล้ว

        
  
         
                   

3 ความคิดเห็น:

thongchai กล่าวว่า...

มีนักปรัชญากล่าวไว้ว่า
"สังคมที่ทันสมัยอาจไม่ใช่สังคมที่พัฒนา
และสังคมที่พัฒนาอาจไม่จำเป็นต้องทันสมัยก็ได้"
การคิดพึ่งพาตนเองเป็นแนวความคิดของการพัฒนา ที่ไม่พึ่งพาความศิวิไลศ์ ส่งให้เมืองแกลงเป็นเมืองที่พัฒนาโดยไม่พึ่งพาเทคโนโลยี
ผ่านมาหลายร้อยปี ไม่น่าเชื่อว่า คำพูดดังกล่าว มี footprint ให้เห็นแล้วที่เมืองแกลง ทำให้เข้าใจถ่องแท้ว่า การพิสูจน์หลักปรัชญาที่ดี คือการทำให้เห็นเป็นประจักษ์นั่นเอง

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เกิดและโตอยู่สงขลา
เป็นประจักษ์พยานการเปลี่ยนนาข้าวเป็นนากุ้ง

ทำงานและลงหลักปักฐานอยู่ปทุมฯ
เป็นประจักษ์พยานการเปลี่ยนนาข้าวเป็นบ้านจัดสรร

ภาวนาทุกวัน ขออย่าให้นาข้าวและดงตาลคู่ขวัญ
รายรอบที่อาศัยตอนนี้ต้องเปลี่ยนไปอีก...

ถ้ารัฐบาลไทยยังอ่อนแรง
ขอให้แกลงวันนี้
เป็นแหล่งจุดประกายความหวังของสังคม
ที่ส่งลมห่มแรงบันดาลใจไปถึงนาทุกผืน
ให้ลุกยืนฝืนสู้รักษานาข้าวและดงตาลไว้

เพราะนาข้าวไม่เป็นเพียงสมบัติของท่าน...
แต่นาข้าวเป็นสมบัติของชาติ

รำลึกบุญคุณนาข้าวเสมอมา
..
..
..
(ผมจะกินข้าวเยอะๆครับชาวนา)

ปอนด์

มาดาม เมืองแกลง กล่าวว่า...

ขอให้ ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายของประเทศไทย ได้อ่านบทความนี้ด้วยเถอะ สาธุ สาธุ สาธุ

.....ขอคืนพื้นที่การเกษตรให้คนไทย ลดการพึ่งพาทุนนิยม.....