05 พฤษภาคม 2553

ศาลาเก้าเหลี่ยม






ทราบจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ถึงเหตุที่ยังไม่ได้ส่งแบบแปลนศาลาเก้าเหลี่ยมมาให้เทศบาลฯ เพราะติดช่วงเลือกตั้งเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา.....

ในราวเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่อติดต่อไปแล้วก็ได้รับแบบแปลนศาลาดังกล่าว และได้มอบกองช่างประมาณการราคาจนแล้วเสร็จ เพื่อหาหนทางที่จะสร้างไว้ในที่ดินของมูลนิธิฯ ณ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พระพรรษา ดังที่ท่านประธานมูลนิธิฯ ได้เคยปรารภมอบโอกาสไว้คราวที่เดินทางมาตรวจเยี่ยมพื้นที่

แต่แรก ตั้งใจว่าจะสร้างในพื้นที่ด้านทิศเหนือของสระน้ำ ซึ่่งยังมีที่ดินรอการพัฒนาตรงนั้นอีกราวห้าไร่ เมื่อได้ไปพิจารณาตำแหน่งที่จะสร้างหลายครั้งเข้า ก็รู้ได้ทันทีว่า ลำพังจะสร้างแต่องค์ศาลาไว้โดดเดี่ยวนั้น ก็คงจะดูแปลก ๆ ที่ถูกต้องมีองค์ประกอบหรือเครื่องเคียงในบริเวณที่จะสร้างด้วย ได้ใช้เวลาใคร่ครวญก็คิดว่า ที่ดินตรงนั้น ยังไม่น่าจะถึงเวลาเข้าไปพัฒนา เพราะต้องมีการออกแบบให้เชื่อมโยงในหลายเรื่อง อาทิ เส้นทางเลียบชายคลอง จุดชมวิว จุดขึ้นลงเรือ ฯ หากสร้า่งไปโดด ๆ คงจะมีการใช้งานหรือเข้าไปสัมผัสกันน้อย

ที่สุดแล้ว ก็ตัดสินใจว่า จะก่อสร้างศาลานี้ให้เป็นศาลากลางน้ำ เพื่อให้มีความโดดเด่น และมีความน่าสนใจที่จะเข้าไปสัมผัส เพราะสถานที่ใด ๆ หากมีน้ำ จะเป็นคลอง เป็นสระ เป็นบึง ก็ย่อมทำให้เรารู้สึกเย็น อ่อนโยน และสบายใจเสมอ
แล้วความยากในการออกแบบก็เกิดขึ้น แต่เป็นความยากที่มีความสุขซ่อนไว้ในทุก ๆ รายการที่เป็นงานในลักษณะนี้ เช่น งานก่อสร้างหอประวัติศาสตร์เมืองแกลง งานก่อสร้างศาลาต้นโพธิ์ ศาลาแหลมท่าตะเคียน รวมถึงสะพานฉลองสิริราชย์สมบัติครบ ๖๐ ปีที่ซอยท่ายายบุึญ และสะพานฉลอง ๑๐๐ ปีบ้านตลาดสามย่านที่ถนนโพธิ์ทอง
คราวที่ได้เรียกแบบศาลาเก้าเหลี่ยมกลับมาพิจารณาอีกรอบหนึ่ง หลังจากตัดสินใจให้เป็นศาลากลางน้ำแล้ว จึงรู้ว่าศาลานี้ออกแบบให้มีขนาดกว้าง ๘.๔๐เมตร และระยะเวลาก่อสร้างนี้ ในใจก็คิดว่าคงจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๔ อันเป็นปีที่รัฐบาลจะต้องจัดให้มีงานฉลองพระชนมายุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ ๗ รอบ หรือ ๘๔ พรรษาอย่างพอดีกับช่วงเวลา....

แล้วธงในใจเกิดขึ้นโดยฉับพลัน แล้วแรงบันดาลใจก็เกิดขึ้นมากมายที่จะพยายามผลักดันให้งานก่อสร้างศาลากลางน้ำนี้สำเร็จให้จงได้ พยายามคิด ไปพิศดูสถานที่จริงนับครั้งไม่ถ้วน และตรึกตรองในกมลไม่ขาดตอนเลย จึงมีแนวที่ได้แจ้งกับช่างไปว่า อันสระน้ำที่สนามกีฬานี้ มีคันสระลาดยางกว้าง ๑๐๐ เมตร ยาว ๑๖๐ เมตร คิดเป็นเนื้อที่ ๑๐ ไร่พอดี ขอให้ไปออกแบบวางสะพานจากส่วนกว้างของสระทางด้านทิศเหนือ มุ่งมาทางใต้ โดยให้สะพานมีความยาว ๘๔ เมตรหรือประมาณกึ่งกลางของสระด้านยาว ราวสะพานเชื่อมศาลา รวมถึงเสาโคมไฟตามทาง ให้มีเอกลักษณ์หรือนำเค้าโครงจากงานศิลปกรรมของหัวหิน อาทิ สถานีรถไฟหัวหิน หรือพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เนื่องจากศาลาเก้าเหลี่ยมที่จะสร้างนี้เป็นศาลารูปแบบเดียวกับศาลาชายหาดของพระราชวังไกลกังวล หัวหินเช่นกัน จะได้เป็นเรื่องราวสอดรับกันไป ส่วนช่วงสะพานยาว ๘๔ เมตรนั้น ให้มีระเบียงแยกออกไปฝั่งละหนึ่งช่อง เพื่อเป็นจุดยืนชมวิว โดยไม่ต้องไปยืนกีดขวางการสัญจรไปมา
สำหรับสันทางตลอดส่วนกว้างของสระที่ยาว ๑๐๐ เมตรนั้น ให้ออกแบบเป็นระเบียงยื่นมาทางทิศใต้ประมาณ ๒๐ เมตรตลอดแนว เพื่อใช้เป็นลานเอนกประสงค์ที่มีใต้ถุนเป็นระดับน้ำที่อยู่เรี่ย ๆ กับระดับท้องพื้นลานซึ่งเราสามารถควบคุมระดับน้ำในสระได้ด้วยการสูบเข้าออกตามต้องการ
วัสดุพื้นลานให้ใช้ไม้เทียมที่มีความหนา และทนแดดทนฝน มีช่องเล็ก ๆ ระหว่างไม้เทียมแต่ละแผ่นเพื่อระบายอากาศ ระดับพื้นลานนี้ให้ต่ำกว่าระดับทางลาดยางคันสระ มีช่องขึ้นลงเพียงช่องเดียว ลดความวุ่นวาย และเพื่อแยกออกมาเป็นอีกโลกหนึ่งที่จะนั่งหรือยืนทอดอารมณ์กับผิวน้ำที่พลิ้ว ๆ เพราะแรงลมในสระ
มุมที่น่าสนใจที่สุดของลานนี้ คือมุมด้านทิศตะวันตกที่กำหนดให้มีศาลาขึ้นอีกหนึ่งหลังบนลานนี้ และมีระดับพื้นศาลาสูงกว่าทางลาดยาง เพื่อให้คนในศาลาได้มองเห็นความเคลื่อนไหวของผู้คนบนลานในสระน้ำ และได้เห็นทัศนียภาพของคลองประแสที่ไหลโอบอยู่ใกล้ ๆ ได้สุดสายตา

ส่วนระเบียงของลานนี้ กำหนดความสูงไว้เพียงระดับไม่เกิน ๑ เมตร เป็นระเบียงโปร่งตา เพื่อให้คนที่เดินหรือวิ่งอยู่ตามคันสระได้เห็นความเคลื่อนไหว และสุดท้ายคือด้านหน้าของใต้ถุน ให้ออกแบบงานคอนกรีตเพื่อบังเสาใต้ถุน เป็นลักษณะโค้งเหมือนช่องระเบียงโบราณเรียงกันไปตลอดแนว จะทำให้รู้สึกเหมือนช่องอุโมงค์ที่ดูลึกและยังไปต่อได้อีก รวมถึงสร้างการเบรคหรือหยุดสายตาเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากน้ำพุกลางสระที่มีอยู่แล้ว

งานก่อสร้างนี้ จะนำเข้าขอความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลงในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้เป็นอีกจุดสำคัญหนึ่งของสนามกีฬาและสวนสาธารณะของเทศบาลฯ และเพื่อให้ทันในโอกาสมหามงคลของเราชาวไทยในปีหน้าต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: