07 มีนาคม 2554

บทที่ ๔ หอประวัติเมืองแกลง.. พลวัตที่หมายแปลงไปสู่การ "ฝึกฟื้นใจเมือง"

       งานก่อสร้าง "เรือนหลังใหม่" ขึ้นมาทดแทนเรือน "โรงพักเก่า" ถนนสุนทรโวหาร บ้านตลาดสามย่าน ได้เริ่มต้นในราวเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๒ และแล้วเสร็จลงในปลายปี พ.ศ.๒๕๕๓ ทั้งนี้ มีประเด็นการก่อสร้างที่ควรบันทึกไว้ กล่าวคือ

       ได้มีการขยับตำแหน่งของเรือนจากเดิม ออกมาทางทิศตะวันออก หรือออกมาทางถนนสุนทรโวหารอีกประมาณ ๘ เมตร เพื่อให้มีตำแหน่งที่เหมาะสมกว่าเดิม

       พื้นที่ว่างด้านหลังเรือน หลังจากขยับออกมาหน้าถนนอีก ๘ เมตร ได้ออกแบบเพิ่มเรือน ๒ ชั้นขึ้นมาอีก ๑ หลัง เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้มากขึ้นกว่าเดิมที่สร้างไว้แต่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔


       เรือนด้านหลังที่เพิ่มขึ้น ได้ออกแบบหดย่อขนาดพื้นที่ชั้นล่างด้านข้างฝั่งทิศเหนือ ให้เป็นเพิงไม้สำหรับปลูกไม้แขวน อาทิ กล้วยไม้ เป็นต้น ส่วนด้านข้างเรือนชั้นบน มีพื้นทางเดินออกไปได้ พร้อมระเบียงกันตก ทั้งนี้ หมายให้ผู้มาเยือนได้ความรู้สึกถึงการมาเรือนของปู่ย่าตายายยามได้กลับมาเยี่ยมเยียนท่านนั่นเอง


       หลักสำคัญในการออกแบบเรือนหลังใหม่ที่ระลึกอยู่เสมอ คือ อาจพิจารณาขยายพื้นที่ทางลึกหรือทางดิ่งได้ แต่ต้องห้ามปรับเพิ่มลดขนาดทางกว้าง เนื่องจากเมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วพบว่า ความงามสมส่วนของเรือนโรงพักเก่า อยู่ที่มีรูปทรงขนาดความกว้างของตัวเรือนที่ลงตัวเป็นสำคัญ


       รอยต่อระหว่างเรือนด้านหน้าและเรือนด้านหลังที่เพิ่มขึ้น ออกแบบให้เกิดเป็นช่องรับแสงทั้งสองข้างเพื่อกระจายแสงสว่างในตัวเรือน และเพื่อการประหยัดพลังงานไฟฟ้าแสงสว่าง


       มีการยกระดับความสูงของพื้นตัวเรือนเดิม ให้เพิ่มขึ้นมาอีก ๕๐ เซ็นติเมตร เพื่อให้เกิดความตระหง่านและสง่างาม


       มีการออกแบบขยายพื้นที่มุกเรือนส่วนหน้าให้เหมาะสมขึ้นกว่าเดิมเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย 


       เรือนชั้นบนออกแบบโดยไม่ให้มีเสารับน้ำหนักอยู่กลางตัวเรือนเหมือนเรือนหลังเก่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในส่วนเรือนชั้นบน


       ด้านข้างของหน้าต่างบานเฟี้ยมทุกชุด ออกแบบให้เพิ่มช่องรับแสงเอาไว้ทั้งสองด้าน เพื่อการกระจายแสงในตัวอาคารได้ทั่วถึงและเพื่อการประหยัดพลังงานไฟฟ้าแสงสว่าง


       ช่องระบายลมโดยรอบอาคาร มีการออกแบบใหม่ จากเดิมที่คงเป็นแต่ชิ้นไม้ซี่กว้างประมาณ ๒ นิ้วตั้งเรียงกันไปโดยรอบ มาเป็นช่องลมที่ฉลุลวดลายตามแบบช่องระบายลมของบ้านในตลาดสามย่านแต่เดิมที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับเรือนโรงพักเก่านั่นเอง


       ระดับความสูงของเรือนชั้นล่างและชั้นบนมีการปรับเพิ่มระดับความสูงให้เป็นมาตรฐานและเหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบัน เนื่องจากเรือนหลังเก่า มีการดัดแปลงใต้ถุนชั้นล่างแต่เดิมให้เป็นห้องทำงาน


       บันไดทางขึ้นลงบริเวณข้างมุกหน้าของเรือนหลังใหม่ ออกแบบให้มีที่พักบันได เพิ่มจากเรือนหลังเดิมที่ไม่ได้ทำไว้ เพื่อลดความชันและได้พักเท้าในการก้าวขึ้นลง


       ตัวเรือนหลังใหม่เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหลัง แล้วหุ้มด้วยไม้เทียม เพื่อให้เกิดความมั่นคง ปลอดภัย  มีอายุการใช้งานที่ยาวนานสืบไป

       ทุกรายการที่ได้ประมวลมาไว้ ณ ที่นี้ ยังมีหลักสำคัญในการออกแบบอีกเรื่องหนึ่ง คือความต้องการให้เรือนหลังใหม่ ได้ถูกใช้ทำหน้าที่เป็น "หอประวัติเมืองแกลง" เป็นศูนย์กลางในการศึกษาค้นคว้าประวัติความเป็นมาของชาติพันธุ์ บรรดาสาแหรก และมิติความเปลี่ยนแปลงของเมืองแกลงในทุก ๆ ด้านจากอดีตถึงปัจจุบัน ให้สามารถนำองค์ความรู้ตรงนั้นมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในยุคนี้  เป็นสถานที่เอนกประสงค์ในการใช้ประโยชน์อันเหมาะสมสำหรับพี่น้องประชาชนทั่วไป

       และในความเป็น "หอประวัติเมืองแกลง" เทศบาลฯ หมายให้อัตลักษณ์แห่งเรือนหลังนี้ได้ถ่ายทอดกลิ่นอาย บรรยากาศ และความรู้สึกของบ้านตลาดสามย่าน แขวงเมืองแกลง ได้ด้วยตัวของเรือนหลังนี้เองยิ่งกว่าคำบอกเล่าพรรณาใด ๆ ในท้ายที่สุด

    

    

ไม่มีความคิดเห็น: