07 มีนาคม 2554

บทที่ ๑ เมื่อพูดถึง "ตลาดสามย่าน"...เรานึกถึงอะไร

       ถ้าเกิดคำถามว่า...เมื่อนึกถึงอำเภอแกลง  เรานึกถึงอะไร?
     หากจะตอบแบบปัจจุบันทันด่วน  เราคงนึกถึงสัญลักษณ์ของอำเภอแกลง เช่น อนุสาวรีย์สุนทรภู่ แหลมแม่พิมพ์ ผลไม้อย่างทุเรียน เงาะ หรือของจากทะเลอย่าง กะปิ น้ำปลา ฯ
    
       แต่หากเวลาเราเอ่ยถึง "ตลาดสามย่าน" ที่เป็นภาพพื้นที่หลัก ศูนย์กลางของอำเภอแกลงแล้ว สิ่งแรก ๆ ที่เราเห็นเป็นภาพของตลาดสามย่านขึ้นมาทันทีคืออะไร?
      ภาพสำคัญ ๆ ที่เราเห็น ก็คงจะเป็นภาพถนนสายหลักอย่าง "ถนนสุนทรโวหาร" ที่มีมาแต่ดั้งแต่เดิม และที่เรานึกถึงขึ้นมาทันทีเป็นเพราะ  ถนนสุนทรโวหารนี้ เป็นถนนที่ตัดเฉียดชิดคลองสามย่าน (คลองประแส) เป็นสายแรก ประหนึ่งเป็นเครื่องบอกวันเวลาที่คนเมืองแกลง ได้เริ่มขยับชีวิตประจำวันและการทำมาหากินที่ต้องอิงน้ำอิงคลองมาอยู่บนฝั่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 
    
        เราจึงนึกถึงถนนสุนทรโวหาร เป็นภาพแรก ๆ ของคำว่า "ตลาดสามย่าน"...

       เพราะถนนสุนทรโวหาร เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเรือนร้านรวงที่สร้างขึ้นมาแต่ยุคแรก ช่วงปี พ.ศ.๒๔๕๑ นับแต่ย้ายเมืองแกลง จากบ้านดอนเค็ด บริเวณวัดโพธิ์ทองพุทธาราม มาอยู่ ณ บ้านตลาดสามย่าน จากนั้น บ้านเรือนร้านค้าจึงค่อย ๆ ขยับขยาย "ห่างคลอง" ออกไปเรื่อย ๆ จนปัจจุบัน
    
       เพราะถนนสุนทรโวหาร เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการที่สำคัญแต่อดีตมาเนิ่นนานจนคุ้นเคยและชินตาอยู่ ๒ แห่งด้วยกัน
     หนึ่งนั้นคือ เรือน "ที่ว่าการอำเภอแกลง" ที่สร้่างขึ้นหลังจากย้ายที่ตั้งเมืองแกลงมาอยู่บ้านตลาดสามย่านในปี พ.ศ.๒๔๕๑ ไม่นาน และเคยมีหลายส่วนราชการปฏิบัติงานในเรือนที่ว่าการหลังนี้
  
     และอีกแห่งหนึ่งคือ เรือน "สถานีตำรวจภูธรอำเภอแกลง" ที่ชาวบ้านมักเรียกถนัดกว่าว่า "โรงพัก"

       เรือนทั้งสองแห่ง แม้ปัจจุบัน ทั้งที่ว่าการอำเภอและสถานีตำรวจจะได้ย้ายออกไปอยู่ในสถานที่แห่งใหม่แล้ว แต่คนเมืองแกลงในวัยยี่สิบปีขึ้นไป ย่อมนึกเอาภาพของเรือนทั้งสองแห่งนี้  ว่าเป็นส่วนสำคัญของคำว่า "ตลาดสามย่าน" อย่างมิต้องไปคิดเป็นอื่น

       ทั้งหมู่บ้านเรือนแต่เดิม เรือนที่ว่าการอำเภอ เรือนโรงพัก บนถนนสุนทรโวหาร เหล่านี้จึงคือ "สิ่งแวดล้อมทางศิลปกรรม" ที่เปรียบได้ดังองคาพยพส่วนสำคัญของ "ตลาดสามย่าน" อำเภอแกลงล่ะฉะนี้แล 

ไม่มีความคิดเห็น: