07 มีนาคม 2554

บทที่ ๓ กลั่นความคิดที่เป็นผลผลิตทางความรู้สึก ก่อนตกผลึกสู่การลงมือทำ

       นอกจากบ้านเรือนของผู้คนในตลาดสามย่าน ย่านแรกสร้างเมือง และบ้านเช่าของกรมธนารักษ์ ตรงนี้แล้ว มีก็เห็นแต่เรือนที่เป็นของรัฐอยู่ ๒ แห่ง คือ ที่ว่าการอำเภอ และโรงพัก เท่านั้นที่ผ่านคืนวันในสามย่านมาช้านาน

       ที่ว่าการอำเภอนั้น เมื่อส่วนราชการได้ย้ายออกไปก่อนโรงพักไม่นาน จากนั้นก็ยังได้ใช้เป็นที่สอนหนังสือของหลาย ๆ หน่วยบนที่ว่าการและหอประชุมด้านหน้ามากระทั่งปัจจุบัน

       ฝ่าย "โรงพัก" ที่มีบริเวณชิดถนนสุนทรโวหารอย่างเห็นได้ชัดนั้นเล่า ก่อนปี พ.ศ.๒๕๔๕ ซากรถหลายชนิดที่ไปประสบอุบัติเหตุหรืออยู่ระหว่างการรอดำเนินคดี  ยังคงจอดอยู่ริมถนนสุนทรโวหาร ใจกลางตลาดสามย่านก็ว่าได้ ไปตลอดแนวรั้วโรงพักเก่า  เป็นภาพที่ทำให้นึกหดหู่ เห็นใจคนที่ไปประสบอุบัติเหตุ แต่ก็เป็นภาพที่เตือนความรู้สึกให้ระมัดระวังการขับขี่ได้เป็นอย่างดี

       กระันั้นก็ดี บริเวณลานโล่งด้านหน้าก็ยังเหลือพื้นผิวหินคลุกอยู่อีกมาก จึงในที่สุด เทศบาลฯ ได้เข้าไปออกแบบพัฒนาบริเวณดังกล่าวให้เป็นสถานที่สำหรับนันทนาการแก่ประชาชน เป็นสนามบาสเกตบอล เป็นลานแอโรบิค ปลูกไม้ยืนต้น และเป็นสนามตะกร้อตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๕ เรื่อยมา

       ส่วนเรือน "โรงพักเก่า" ที่หยุดใช้งานอย่างสิ้นเชิงมาแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๘ เป็นเรื่องหนึ่งที่ยังเป็นคำถามวนเวียนอยู่ในใจ ว่าหากละเลยก็รังแต่จะสูญสลายไปในที่สุด และมีความหมายต่อการนำพาพัฒนาเมืองแกลงในหลายสถานะ กล่าวคือ

       ควรที่จะพัฒนาให้เรือนโรงพักเก่านี้ ที่สร้างกันมาแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๓ และแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๙๔ ได้กลับมาใช้ประโยชน์ในทางใด ให้เหมาะกับสภาพเมืองในปัจจุบัน

       หากไม่นำพารักษาเรือนโรงพักเก่าแล้ว ชิ้นส่วนสำคัญของบ้านตลาดสามย่านชิ้นนี้ ก็คงจะสิ้นสลายกลายเป็นได้แค่ "คิดถวิล" อย่างแน่นอน  และเมื่อนั้น บ้านตลาดสามย่านจะเหลืออะไร จะมีประโยชน์อันใด หากก้าวไปโดยไม่คิดแลเรื่องราวแห่งปูมหลัง

       ในการพัฒนาบ้านเมือง เราให้คุณค่าความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางศิลปกรรมต่าง ๆ ของเมืองสักแค่ไหน อะไรคือความเจริญของบ้านเมือง และเราจะนำเอาศิลปกรรมที่เกิดขึ้นมาแต่ผู้คนในอดีตได้สร้างไว้ เป็นเครื่องวัดและยกระดับคุณค่าของเมืองได้หรือไม่ ฯ

       ที่สุดแล้ว เรือน "โรงพักเก่า" จึงถูกนำมาคิดปรับปรุง พลันเมื่อประเด็นคำถามต่าง ๆ ข้างต้นได้ตกผลึกเป็นคำตอบอย่างมาดมั่นว่า การอนุรักษ์ "โรงพักเก่า" ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญของบ้านตลาดสามย่านนี้เป็นหน้าที่ เพื่อให้บ้านตลาดสามย่าน ได้ดำรงคุณค่าอัตลักษณ์ของตัวเองเอาไว้ให้ได้ และเพื่อให้เรือนหลังนี้ ได้ออกแบบให้มีหน้าที่การใช้งานเพื่อประโยชน์ของพี่้น้องชาวเทศบาลได้ต่อไป 
  
       แต่ครั้นเมื่อได้เข้าไปพิจารณาเรือนโรงพักเก่าที่แทบเรียกได้ว่า ผุพังโทรมทรุดอย่างยิ่งในราวปี พ.ศ.๒๕๔๖ แล้ว และได้ให้ช่างเข้าไปทดสอบความแข็งแรงของโครงสร้า่งที่ปรากฏอยู่ พบว่า ไม่อยู่ในลักษณะที่จะเข้าไปซ่อมแซมปรับปรุงแก้ไขให้คืนดีได้ เพราะชิ้นไม้ทุกส่วนผุเสียมาก โครงสร้างเสาก็ไม่มั่นคง ตงและคานรับน้ำหนักทั้งผุและแอ่น ขนาดที่ไม่ควรขึ้นไปชั้นบนเกินคราวละสิบคน

       เทศบาลฯ จึงได้กำหนดแนวคิดที่จะสร้างเรือนในลักษณะโรงพักเก่านี้ขึ้นมาใหม่ ที่ยังคงถือเอาความงดงามของเรือนหลังเก่าเอาไว้เหมือนเดิม

       ความงามของเรือนโรงพักเก่าที่ซึมซ่อนอยู่ แม้จะถูกปรับปรุงมาหลายต่อหลายครั้ง ที่อนุมานว่าคงเป็นไปแบบกระท่อนกระแท่น เพราะงบประมาณอันจำกัดจำเขี่ย คงจะทำให้ดีได้ยาก ทั้งปะซ่อมพื้นผุและหลังคารั่ว ทั้งรูโหว่ของผนังและผังพื้น ฯ สภาพที่เห็น คงประมาณแต่เพียงว่า..ซ่อมเพียงให้พออยู่ได้

       แต่ความงามของเรือนก็ยังเป็นประกาย ด้วยงามนั้น งามที่จั่วมุกเรือนส่วนหน้า งามที่ระดับความลาดเอียงของหลังคา งามที่หน้าต่างบานเฟี้ยมที่อยู่รายรอบ งามด้วยลักษณะบันไดทางขึ้นลงทั้งสองฝั่ง และงามด้วยทรวดทรงสัดส่วนของเรือนที่ออกแบบไว้อย่างได้ขนาด มั่นคง และภูิมิฐาน

       ความงามอันกล่าวมานี้ เทศบาลฯ จึงได้ส่งสถาปนิกเข้าไปสำรวจจัดเก็บรายละเอียด มุมองศา อัตลักษณ์ ของเรือนโรงพักเก่าไว้เพื่อไม่ให้คลาดเคลื่อนเมื่อถึงวันที่จะลงมือก่อสร้างใหม่

       และเมื่อผ่านขั้นตอนนี้และมีการออกแบบเตรียมพร้อมแล้ว ทางฟากการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะฟากสภาเทศบาลตำบลเมืองแกลง ซึ่งสมาชิกฯ ทุกท่านต่างเล็งเห็นความสำคัญของคุณค่าแห่งงานศิลปกรรมประจำเมืองของเรือนโรงพักเก่านี้ โดยให้ความเห็นชอบอย่างท่วมท้น เป็นเอกฉันท์...

       งานรื้อถอนเรือนโรงพักเก่าที่ทิ้งร้างอย่างอ้างว้างมากว่าสิบปี จึงเริ่มต้นขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนก่อนที่จะได้มีการเริ่มพิธีบวงสรวงเทวดา ไหว้บูชาเจ้าที่ ทำบุญอุทิศส่วนกุศล และวางศิลาฤกษ์เตรียมการก่อสร้างเรือนหลังใหม่ในวันเสาร์ที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๒ วันเดียวกับที่มีพิธีฉลองเปิดสะพาน ๑๐๐ ปี บ้านตลาดสามย่านที่ถนนโพธิ์ทอง อันอยู่ในระหว่างการจัดงานบุญกลางบ้าน ปีที่ ๖ หลังจากเทศบาลฯ ได้เข้าไปบูรณะปรับปรุงสะพานเป็นการก่อนหน้าแล้ว เพื่อให้เกิดเป็นคุณค่างานทางด้านสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมในเมืองแกลงอีกงานหนึ่ง

       สะพาน ๑๐๐ ปี บ้านตลาดสามย่านได้ไปทอดรอการเริ่มต้นก่อสร้างหอประวัติเมืองแกลง...บ้านของคนทุกชั้นชน ทุกรุ่นวัยในบ้านตลาดสามย่านทั้งเมือง  ก็นับเนื่องแต่ในวันนั้นแล...

    

ไม่มีความคิดเห็น: