07 มีนาคม 2554

บทที่ ๒ ชิ้นส่วนสิ่งแวดล้อมทางศิลปกรรมสำคัญ ๆ ที่เรียงต่อกันเป็น "บ้านตลาดสามย่าน"

       ถนนสุนทรโวหาร ตลาดสามย่าน ไม่ได้มีเพียงแต่หมู่ "บ้านเรือนร้านรวง" เรือน "ที่ว่าการอำเภอ" หรือ "โรงพัก" เท่านั้น หากยังมี "ชิ้นส่วน" สำคัญที่ประกอบกันอยู่มิใช่น้อย
    
       ภาพที่เลือนหายไป และได้กลายเป็นเพียงความทรงจำเสียแล้ว เช่น อาทิ โรงลิเกเจ๊กชิ่ว วิกไพบูลย์บันเทิง คอกม้าหน้าโรงพัก ลานโล่งหน้าที่ว่าการอำเภอ ฯ

       แต่ที่ยังเป็นร่องรอย อยู่ในรอยต่อระหว่างอดีตกับปัจจุบันก็ยังมีอยู่มิใช่น้อย และยังคงทำหน้าที่อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับชีวิตของคนสามย่านวันนี้ พอจำแนกได้คือ
  
        หมู่บ้านเรือนร้านรวงบนถนนสุนทรโวหาร จากบริเวณฝั่งปากตรอกขี้หมู ซอยฝั่งธน ซอยลุงร่มไปจรดวงเวียนใน ที่แม้จะมีเรือนใหม่ ๆ แซมแทรกอยู่บ้าง แต่ "บุคลิก" ของเรือนย่านนี้ยังตรึงภาพเก่า ๆ ได้ขมัง หากหมายจะสัมผัสกลิ่นอายของตลาดสามย่านแต่อ้อนออก ก็ต้องใช่ที่นี่เลย

     หมู่เรือนที่หันหลังให้ที่ว่าการอำเภอตลอดแนว ที่มีอายุไล่เรียงจากเรือนฝั่งตรงข้าม นี้ก็ยังคง "บุคลิก" ไว้อย่างข้นเข้ม ด้วยเหตุเพราะเป็น เรือนให้ราษฎรใช้ประโยชน์ เป็นทรัพย์สินที่ราชพัสดุ เสียมากกว่าสามสิบคูหา การปรับเปลี่ยนจึงมีน้อย

     หลายหลังเรือนย่านนี้ เคยเป็นและยังเป็นของลูกหลานคนทำราชการมาแต่อดีตมิใช่น้อย อาทิ ตึกสามชั้นริมคลองสามย่านบ้านคุณพล บุตรคนสุดท้องของหลวงแกลงแกล้วกล้า (ศรี บุญศิริ) ผู้ว่าราชการเมืองแกลงในสมัยรัชกาลที่ ๕  เรือนไม้ของครูลำใย วงศ์พิทักษ์ บุตรหมื่นพงษ์แพทย์พิทักษ์ (เอิบ) แพทย์ประจำตำบล เรือนไม้ของขุนประดับประดิษฐการ อดีตปลัดอำเภอแกลง เรือนไม้ของบุตรสาวขุนเรี่ยมประศาสน์ (เรี่ยม พราหมทัศน์) อดีตนายอำเภอแกลง

     อีกสองแห่งที่ต้องกล่าวถึง นอกจากย่านข้างต้นแล้ว หนึ่งคือ พื้นที่และเรือนสำนักงาน "โรงเลื่อยจักรพงษ์เกษม" ที่เหลือเรียกกันเพียง "โรงเลื่อยเก่า" มานับสิบปี แต่ทว่า ยุคหลังปี พ.ศ.๒๔๗๐ ถึงปี พ.ศ.๒๕๒๐ ตรงนี้คือฟันเฟืองขับเคลื่อนเม็ดเงินระคนกับความคึกคักของผู้คนที่เกี่ยวข้อง เนื่องเพราะเป็นธุรกิจที่มีห่วงโซ่สายสัมพันธ์อันกว้างขวาง

     อีกแห่งหนึ่งคืออาคาร "ตลาดสด" อันเป็นพื้นที่ราชพัสดุติดกับหมู่เรือนร้านค้า แม้โครงสร้างตลาดเดิมจะทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กก็ตาม แต่ลักษณะทรงอาคารทั้งสองหลังก็บอกยุคสมัยที่ตลาดสามย่าน ได้ใช้มือไม้ของความเป็น "สุขาภิบาลทางเกวียน" เข้ามาบริหารบ้านเมืองในช่วงราวต้นปี พ.ศ.๒๕๑๐ ภายหลังเมื่อเกิด "ตลาดเช้า" ตามมาอีกหนึ่งแห่ง "ตลาดสด" ตรงนี้ จึงเรียกกันว่า "ตลาดเย็น" ที่หมายถึงเป็นตลาดสำหรับซื้อขายกันแต่ในช่วงเวลาเย็น

     เรือนถัดจากย่านนี้ไป ทั้งมุ่งหน้าไปทางวัดพลงช้างเผือก และมุ่งหน้าไปทางหัวถนนสุนทรโวหารที่เคยเรียก "แยกมะขามคู่" กล่าวโดยรวมคือ สร้างขึ้นไล่เรียงกันมาภายหลังกระจายตัวจากย่านเรือนชาวบ้านและเรือนที่ทำการของทางราชการข้างต้น แต่พอจะอนุมานได้ว่า เกิดนับแต่ราวปี พ.ศ.๒๔๘๐ เรื่อยมา มีลักษณะส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้สองชั้น หลังคาจั่วยอดแหลมทรงปั้นหยา แทบจะไม่ตกแต่งประดับประดาใด ๆ ด้วยเพราะเป็นบ้านใช้ทำมาค้าขายผสมอยู่อาศัย ทั้งของคนไทยและเจ๊กจีนก็มีมิใช่น้อย

      เรือนที่ทำ่จากไม้ เพราะยุคสมัยที่ก่อสร้าง ไม้หาได้ง่ายไม่แพ้ปูนนั้น  ต่อเมื่ออายุการใช้งานได้สักสี่ห้าสิบปีขึ้นไป ก็เริ่มถูกชอนไชโดยปลวก และ "ไอ้หุน" อยู่ทุกเวลา ต้องปรับปรุงซ่อมแซมกันอยู่ตลอด ที่มีทุนรอนหรือซื้อขายเปลี่ยนมือ และรื้อสร้างใหม่เป็นบ้านคอนกรีตเสียก็มาก

       รูปลักษณะ หรือ "บุคลิก" เฉพาะตัวอันเป็น "สิ่งแวดล้อมทางศิลปกรรม" ของบ้านตลาดสามย่านก็เริ่มเคลื่อนคลายกลายเปลี่ยน จะเรือนของราษฎร์ เรือนของรัฐ ล้วนแต่อยู่ในกฎของความอนิจจังทั้งสิ้น

       แต่แม้ว่าเรือนที่ยังยืนหยัดท้าทายแรงลมและน้ำฟ้า อันซึ่งเจ้าของบ้านผู้สร้างแต่แรกจะได้ดับสูญไปแสนนาน จะยังยืนเด่นทำหน้าที่ไว้ลายให้กับความเป็น "บ้านตลาดสามย่าน" กันอยู่บ้างพอสมควร...

     ก็ยังรู้สึกใจหาย ด้วยไม่รู้ว่า...จะอยู่ได้นานกันอีกสักเท่าใด ทั้งเรือนของราษฎร์ หรือเรือนของรัฐ

       มิเว้นแม้แต่เรือน "โรงพักเก่า" ที่เคยมีพื้นที่ลานโล่งกว้างชิดถนนสุนทรโวหาร ซึ่งผู้คนที่ผ่านไปมาเห็นกันชัดจนชินตา...

     ...ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ย้ายออกไปปฏิบัติงาน ณ สถานที่แห่งใหม่อย่างเบ็ดเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ เพราะสถานที่ทำงานเริ่มคับแคบ ไม่สะดวกสำหรับประชาชนที่มาติดต่อ บวกกับความทรุดโทรมของอายุเรือนที่สร้างและกรำงานมานาน

       ทิ้งโรงพักให้แรมร้าง ให้ไกลห่างจากผู้คนจากที่เคยเป็นอยู่ ...ด้วยความจำเป็น  

    

    

ไม่มีความคิดเห็น: