04 มกราคม 2553

ตัวชี้เทศบาลฯ





จะบอกกล่าวเรื่องการจัดการของเสียของเทศบาลฯ ว่าด้วยผลที่ปรากฏในเดือนธันวาคม ส่งท้ายปี ๕๒ เลยไม่รู้จะจั่วหัวว่า "ตัวชี้วัด" ไปทำไม ใช้คำว่า "ตัวชี้เทศบาลฯ" ให้มันเข้าใจยาก ๆ เสียดีกว่า
บรรดาคนในระบบตรงนี้เขาแจ้ังตัวเลขการนำของเสียของเมืองเข้ามาในระบบการแปรรูป (ทำปุ๋ย เลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ) การนำกลับไปใช้ใหม่ (ขยะรีไซเคิล ถุงพลาสติค) ในเดือนธันวาว่า ได้น้ำหนักถึง ๔๖,๑๖๗ กิโลกรัม ในจำนวนนี้เป็นขยะรีไซเคิลเสียหนึ่งตันกับเจ็ดร้อยกว่าโล เป็นถุงพลาสติคอยู่เจ็ดร้อยกว่าโล เป็นเศษอาหารเลี้ยงหมู แพะ ไส้เดือน กระต่าย วัว เป็ดเสียแปดตันกว่า ที่เหลือเป็นขยะที่นำไปทำปุ๋ยหมักอีกสามสิบห้าตันกว่า
แต่การณ์กลับปรากฏว่าน้ำหนักขยะเทียบกับเดือนเดีวกันปีก่อน ได้ลดลงจากราว ๔๙๙ ตันเหลือเพียง ๓๔๐ ตัน หรือลดลงไปถึง ๑๕๘,๓๐๐ กิโลกรัม นับเป็นการลดลงมากที่สุดคือต่ำกว่าสี่ร้อยตันต่อเดือนเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสิบปี
เรื่องประโยชน์ของขยะนี้ต้องเคาะต้องตีกันไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวนี้แหล่งใหญ่ ๆ อย่างตลาดสดมีชาวบ้านไปช่วยเก็บเศษผักผลไม้ไปเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น ร้านอาหารก็มีชาวบ้านไปแบ่งเอาไปเลี้ยงหมูเหมือนเทศบาล แถมถุงพลาสติคราคาไม่ต้องล้างขยับไปถึงกิโลละสามบาทห้าสิบสตางค์และหักน้ำออกจาก ๒๕% เหลือแค่ ๑๐% เป็นการได้เครือข่ายการนำกลับไปใช้ใหม่อย่างน่าสนใจ
ทั้งคนในเขตเทศบาลและคนของเทศบาลต้องร่วมกันเข้าใจเรื่องขยะนี้ให้กระจ่าง รู้จักคัดรู้จักแยก รู้ว่าอะไรจะนำไปใช้ช่องทางไหน เพื่อที่การลดลงทุก ๆ ๑ กิโลกรัมของขยะ จะได้ช่วยรักษาเงินทองของบ้านเมืองไว้ไม่ต้องใช้ไปโดยเปล่าประโยชน์
ไม่เชื่อก็อยากท้าให้ลองคำนวณค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทุกโมงยาม ทุกวี่วันสำหรับด้านการจัดการของเสียดูว่า ปี ๆ หนึ่งต้องหมดกันไปแห่งละกี่ล้าน และคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของงบลงทุน
แม้หนาวนี้จะไม่ค่อยหนาว แต่รับรองว่า เห็นค่าใช้จ่ายตัวนี้แล้วจะหนาวอย่างน่าเสียดายจริง ๆ

ไม่มีความคิดเห็น: